ความก้าวหน้าในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและอุทกภัยและข้อเสนอแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลาง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 30 September 2017 19:02
- Hits: 2023
ความก้าวหน้าในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและอุทกภัยและข้อเสนอแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลาง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งและเห็นชอบการกำหนดพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกล้ำอย่างเป็นระบบในพื้นที่ภาคกลาง (Area-based) จำนวน 10 พื้นที่ เพื่อให้มีความชัดเจนในการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง กรมทรัพยากรน้ำในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์พื้นที่ภัยแล้งและเสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จำนวนทั้งสิ้น 4.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 5 ของพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั้งประเทศ และมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 3.8 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั้งประเทศ นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคกลางมีพื้นที่เสี่ยงภัยจากการรุกล้ำของน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำ จำนวน 3 สายที่สำคัญ ประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง มีระยะทาง รวมทั้งสิ้น 230 กิโลเมตร ทั้งนี้ พื้นที่ภาคกลางประกอบด้วย 6 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี และลุ่มน้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำรวม 40.63 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 19.89 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 8.98 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 45 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด โดยระบบชลประทานสามารถจัดสรรน้ำให้พื้นที่ชลประทานดังกล่าวตามความต้องการประมาณ 22,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ในขณะที่ ยังมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทานอีก 9,900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนั้น เพื่อการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่ภาคกลางอย่างเป็นระบบ จึงได้กำหนดเป้าหมายการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเชิงพื้นที่ (Area-based) ในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 10 พื้นที่ (ครอบคลุม 16 จังหวัด) ประกอบด้วย 1) ลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ตอนบน 2) ลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำท่าจีนตอนบน 3) ลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำเจ้าพระยา 4) ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 5) ลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง 6) ลุ่มน้ำเพชรบุรี 7) ลุ่มน้ำสาขาคลองบางสะพานใหญ่ 8) ปากแม่น้ำเจ้าพระยา 9) ปากแม่น้ำท่าจีน และ 10) ปากแม่น้ำแม่กลอง
แผนพัฒนาระยะที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2562 มีโครงการตามแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 -2562 ของทั้งประเทศ รวมจำนวน 8,719 โครงการ มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 1,356,510 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น 375 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีแผนงานโครงการของพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่ภาคกลางตามการกำหนดพื้นที่บริหารจัดการ 10 พื้นที่ จำนวน 952 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์จำนวน 630,752 ไร่ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เสนอโครงการเร่งด่วนเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (กรมชลประทาน จำนวน 76 โครงการ) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 33 โครงการ
แผนพัฒนาระยะที่ 3 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2569 มีโครงการตามแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2569 ของพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 352 โครงการ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 0.36 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น 89 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นแผนงานโครงการของพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งในภาคกลางตามการกำหนดพื้นที่บริหารจัดการ 10 พื้นที่ จำนวน 107 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์จำนวน 97,337 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น 26 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดทำแผนการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผนงาน ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) เร่งรัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้มีความชัดเจนและนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และให้ กนช. ได้เห็นชอบในหลักการแผนงานดังกล่าวในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 เรียบร้อยแล้ว โดยให้เร่งดำเนินการแผนการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างและแผนระบายน้ำหลากของเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก (ปรับปรุงคลองชัยนาท – ป่าสัก เป็นคลองส่งน้ำคู่ขนานคลองระบายน้ำ) รวมถึงการดำเนินการโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และได้บูรณาการแผนงานดังกล่าวไว้ในแผนการดำเนินการระยะที่ 2 และระยะที่ 3 แล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กันยายน 2560