การลงนามและให้สัตยาบันร่างสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 16 September 2017 20:11
- Hits: 2921
การลงนามและให้สัตยาบันร่างสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการลงนามและการให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์
3. มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ ผู้ลงนามในข้อ 2 ในกรณีที่ผู้ลงนามไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
4. เห็นชอบให้ กต. เป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการให้สัตยาบัน
5. มอบหมายให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยประสานงานหลักระดับชาติของการดำเนินการตามพันธกรณีของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ภายหลังจากที่ไทยให้สัตยาบันแล้ว
6. อนุมัติให้หลักการสำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามพันธกรณีให้แก่ สมช. ในฐานะหน่วยประสานงานหลักระดับชาติและหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของร่างสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ดังนี้
1. เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญของการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น
1) ผลกระทบทางมนุษยธรรม
2) ภัยของอาวุธนิวเคลียร์ต่อความมั่นคงของมนุษย์
3) การรักษาสิ่งแวดล้อม
4) ด้านการพัฒนาและแสดงความห่วงกังวลต่อการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดไปในการผลิต บำรุงรักษา และพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัย และ
5) รวมถึงการสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนและเยาวชน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญและมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการสร้างสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่เอื้อต่อสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. เน้นย้ำถึงบทบาทของจิตสำนึกสาธารณะในการส่งเสริมหลักการทางมนุษยธรรมเรียกร้องการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง และยอมรับความพยายามของสหประชาชาติ กลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศและองค์การภูมิภาค องค์กรเอกชน ผู้นำทางศาสนา สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ และกลุ่มฮิบาคูฉะ (เหยื่อจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กันยายน 2560