โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 16 September 2017 20:00
- Hits: 1799
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุกตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ทั้งนี้ ให้ พน. รับความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
2. ให้ พน. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) หารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงรูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างสถานีไฟฟ้าและสายส่งของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อน ผาจุก เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมที่สุด โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบไฟฟ้าของประเทศและความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นลำดับแรก
3. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินการประชาสัมพันธ์ ชี้แจง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและชุมชนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก เช่น ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการและมาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วย เช่น การจัดหาแรงงานในพื้นที่ เป็นต้น
สาระสำคัญของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผน AEDP 2015 เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
ที่ตั้งโครงการ
ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของเขื่อนทดน้ำผาจุกของกรมชลประทาน ซึ่งอยู่ห่างจากท้ายเขื่อนสิริกิติ์เป็นระยะทางประมาณ 43 กิโลเมตร ในเขตตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
องค์ประกอบสำคัญของโครงการ
1. โรงไฟฟ้ามีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 2x7 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ เฉลี่ย 91.26 ล้านหน่วยต่อปี
2. ระบบสายส่งไฟฟ้า พิจารณาเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของโครงการฯ โดยก่อสร้างสายส่ง 115 เควี วงจรคู่ ตัดกับสายส่งอุตรดิตถ์-สิริกิติ์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 5 อยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม รวมทั้งโครงการเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำซึ่งมีขนาดไม่เกิน 15 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม กฟผ. จะดำเนินการศึกษาและจัดทำ IEE เพื่อป้องกันปัญหาจากการร้องเรียนของประชาชน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในขั้นขออนุญาตผลิตไฟฟ้า
ประโยชน์ที่ได้รับ
ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้จำนวน 14 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 45,833 ตัน ช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะในกรณีโรงไฟฟ้าเขื่อนสิริกิติ์ ไม่สามารถเดินเครื่องได้จากเหตุสุดวิสัย และช่วยลดภาระของโรงไฟฟ้าเขื่อนสิริกิติ์ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับพื้นที่ในอนาคต
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กันยายน 2560