ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 09 September 2017 14:45
- Hits: 9788
ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
เรื่อง ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย-กัมพูชา จำนวน 1 ฉบับ และหากมีการแก้ไข โดยที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของความตกลงดังกล่าว ให้ กค. สามารถทำการแก้ไขได้ทันที
2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รับไปดำเนินการตามแบบพิธีทางการทูตและกฎหมายภายใน เพื่อให้ความตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป
สาระสำคัญของการจัดทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย – กัมพูชา สรุปได้ดังนี้
1. ขอบข่ายของร่างความตกลงฯ ใช้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือประเทศกัมพูชา หรือทั้งสองประเทศ และจะใช้บังคับกับภาษีเก็บจากฐานเงินได้
2. วิธีขจัดภาษีซ้อน ประเทศคู่สัญญาจะยอมให้ผู้มีถิ่นที่อยู่ของตนนำภาษีที่เสียไว้แล้วในอีกประเทศหนึ่งมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระในประเทศตนเท่าจำนวนภาษีที่ได้ชำระไว้จริงแต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่คำนวณได้ในประเทศตน นอกจากนี้ ในกรณีที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อยภาษีตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของประเทศคู่สัญญา โดยให้นำจำนวนภาษีที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อยไปถือเป็นเครดิตภาษีได้ด้วย (Tax Sparing Credit) โดยให้มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ
3. การเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ ประเทศที่มีการจ่ายเงินได้จะเก็บภาษีจากวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศที่มีการจ่ายเงินได้นั้น
4. การเก็บภาษีจากการขนส่งระหว่างประเทศ ให้ยกเว้นเฉพาะภาษีเงินได้สำหรับการขนส่งทางอากาศยานระหว่างประเทศ สำหรับภาษีเงินได้จากการขนส่งทางเรือและทางบก (รวมรถไฟด้วย) ให้จัดเก็บภาษีตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศโดยลดภาษีให้กึ่งหนึ่ง
5. การเก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภท กรณีเงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ และค่าธรรมเนียมการบริการทางเทคนิค จะมีการจำกัดอัตราภาษีในประเทศผู้จ่ายเงินได้ โดยไม่ให้เก็บเกินกว่าอัตราภาษีตามที่ความ ตกลงกำหนดไว้ กรณีค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และผลได้จากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์สังหาริมทรัพย์ของสถานประกอบการถาวรและหุ้นที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้ประเทศที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ยังคงมีสิทธิเก็บภาษีได้
6. การเก็บภาษีเงินได้ การเก็บภาษีจากเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนจากการจ้างแรงงาน การให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ การให้บริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ นักแสดง นักเรียน และผู้ฝึกงาน หากมีการให้บริการในประเทศใดให้ประเทศนั้นมีสิทธิเก็บภาษีได้ แต่อาจได้รับยกเว้นภาษีตามเงื่อนไขที่ความตกลงกำหนดไว้
7. การเริ่มใช้ความตกลงฯ ความตกลงมีผลใช้บังคับเมื่อประเทศคู่สัญญาได้แจ้งโดยวิธีทางการทูต สำหรับประเทศไทยกรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ใช้บังคับกับเงินได้ที่ได้รับในหรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมถัดจากปีซึ่งความตกลงมีผลใช้บังคับ ขณะที่ภาษีเงินได้อื่น ๆ จะมีผลใช้บังคับสำหรับภาษีที่เรียกเก็บในปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นในหรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมถัดจากปีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ
8. การเลิกใช้ความตกลง ประเทศคู่สัญญาสามารถแจ้งการเลิกใช้ด้วยวิธีทางการทูตภายหลังที่ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับมาแล้ว 5 ปี โดยแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้และจะมีผลเลิกใช้กับเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีภาษีถัดไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กันยายน 2560