ขอความเห็นชอบการให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 09 September 2017 14:17
- Hits: 4456
ขอความเห็นชอบการให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญา
เรื่อง ขอความเห็นชอบการให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติดังนี้
1. เห็นชอบสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งสนธิสัญญาดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ การเสนอสนธิสัญญาดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เสนอไปพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. ....
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการ ห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
3. มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำสัตยาบันสารเพื่อให้สนธิสัญญาฯ มีผลผูกพันตามสนธิสัญญาฯ ทั้งนี้ ให้ยื่นสัตยาบันสารเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบสนธิสัญญาตามข้อ 1. และร่างพระราชบัญญัติฯ ตามข้อ 2. ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์มีสาระสำคัญเป็นการห้ามมิให้มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์อื่น ๆ ในทุกสภาพสิ่งแวดล้อม และไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านพลเรือน และการทหาร โดยประเทศที่ให้สัตยาบันจะไม่ดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือระเบิดนิวเคลียร์ในรูปแบบใดก็ตาม ห้ามหรือระวังป้องกันมิให้มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบในอาณาเขตประเทศตนเอง และ ไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบ ทั้งนี้ กำหนดให้สนธิสัญญานี้มีผลใช้บังคับในเวลา 180 วันภายหลังวันที่รัฐภาคีทั้งปวงที่มีรายชื่อในภาคผนวก 2 (จำนวน 44 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย บังกลาเทศ เบลเยียม บราซิล บัลแกเรีย แคนาดา ชิลี จีน โคลอมเบีย เกาหลีเหนือ อิยิปต์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน (สาธารณรัฐอิสลาม) อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ปากีสถาน เปรู โปแลนด์ โรมาเนีย เกาหลีใต้ สหพันธรัฐรัสเซีย สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี ยูเครน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และซาอีร์) ท้ายสนธิสัญญาฉบับนี้ได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาแล้วเท่านั้น
2. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. ....
2.1 กำหนดบทนิยามของคำว่า “สนธิสัญญา” และ “องค์การ”
2.2 กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกาศวันที่ข้อบทของสนธิสัญญามีผลใช้บังคับกับประเทศไทยแล้ว ในราชกิจจานุเบกษา
2.3 กำหนดให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่องค์การ ผู้แทนของรัฐภาคี รวมทั้งผู้แทนสำรองและที่ปรึกษา ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งในคณะมนตรีบริหารรวมทั้งผู้แทนสำรองและที่ปรึกษา ผู้อำนวยการใหญ่ ผู้ตรวจ ผู้ช่วยตรวจ เจ้าหน้าที่ขององค์การ และผู้สังเกตการณ์ รวมตลอดถึงที่พักอาศัย สถานที่ทำการ กระดาษเอกสาร หนังสือโต้ตอบของคณะผู้ตรวจ รวมทั้งบันทึกของคณะผู้ตรวจ สารตัวอย่างและอุปกรณ์ที่ได้รับการรับรองที่สมาชิกของคณะผู้ตรวจนำมาเพื่อใช้ในการตรวจที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่การดำเนินงาน และการปฏิบัติงานขององค์การในประเทศไทย ตามที่ระบุไว้ในข้อบทของสนธิสัญญา ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย หรือ เข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
2.4 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของตน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กันยายน 256