การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 03 September 2017 17:38
- Hits: 1800
การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแนวทางการจัดทำบันทึกการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในร่างบันทึกการประชุมที่มิใช่สาระสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้ มท. สามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 3558) ด้วย
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามในบันทึกการประชุมดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อลงนามในบันทึกการประชุมดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
1. การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นตามผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-กัมพูชา (JC) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม 2540 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้งสองฝ่าย โดยมุ่งเน้นในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ สาธารณสุข การท่องเที่ยว รวมถึงความร่วมมือระหว่าง มท. ของทั้งสองประเทศ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2559 ณ กรุงเทพมหานคร โดยได้นำผลจากบันทึกการประชุมฯ ไปมอบเป็นนโยบายให้จังหวัดถือปฏิบัติ
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งราชอาณาจักรไทย และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เห็นชอบกำหนดจัดการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2560 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยร่างบันทึกการประชุมฯ ในครั้งนี้มีประเด็นการติดตามการดำเนินความร่วมมือ จำนวน 15 ประเด็น โดยไม่กล่าวถึงประเด็นอ่อนไหวที่มีผลต่อความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่รัฐบาลทั้งสองยังมิได้เคยทำความตกลงกันไว้ รวมทั้งไม่มีการจัดทำความตกลงใด ๆ ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ ร่างบันทึกการประชุมฯ กำหนดมีการหารือร่วมกันสรุปได้ดังนี้
(1) การดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องการข้ามแดน
(2) ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนบริเวณชายแดน
(3) การคมนาคมขนส่ง
(4) การค้าขายสินค้าเกษตรของประชาชนบริเวณชายแดน
(5) ความร่วมมือด้านแรงงาน
(6) การบริหารจัดการจุดผ่านแดน
(7) การสาธารณสุขและการพัฒนาชุมชน
(8) การส่งกระแสไฟฟ้าข้ามพรมแดน
(9) การจัดการภัยพิบัติ
(10) การลักลอบตัดไม้โดยผิดกฎหมาย
(11) การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบริเวณชายแดน
(12) การท่องเที่ยว
(13) การดำเนินโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS
(14) กลไกความร่วมมือระดับจังหวัดและท้องถิ่น (15) อื่น ๆ
ทั้งนี้ แนวทางที่กำหนดไว้ในบันทึกการประชุมอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สามารถปฏิบัติได้ เป็นประโยชน์ที่จะให้ผู้บริหารระดับสูงในพื้นที่ที่มีเขตแดนติดต่อกัน มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สอดคล้องกับเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาล และเป็นการสานต่อความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงกันไว้แล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 สิงหาคม 2560