การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 14 August 2017 15:00
- Hits: 2051
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างเอกสารจำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 10 (Tenth Ministerial Meeting of the Lower Mekong Initiative: Joint Statement)
1.2 ร่างถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 (Draft Chair’s Statementof the 10th Mekong-Japan Foreign Ministers’ Meeting)
1.3 ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 8 (DraftJointMinisterialStatement for the 8th MGC Ministerial Meeting) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
1.4 อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 10 กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 8) เป็นผู้ร่วมให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างฯ 3 ฉบับ มีดังนี้
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 10 (Tenth Ministerial Meeting of the Lower Mekong Initiative: Joint Statement) เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นที่จะให้มีความคืบหน้าในการพัฒนาและการรวมตัวกันในระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิกข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขง เพื่อระเบียบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มั่นคงและมั่งคั่ง รวมถึงให้ยึดมั่นดำเนินโครงการตามข้อเสนอภายใต้เสาความร่วมมือด้านต่าง ๆ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในภูมิภาค ความร่วมมือข้ามพรมแดน และประชาคมอาเซียน
2. ร่างถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 (Draft Chair’s Statement of the 10th Mekong-Japan Foreign Ministers’ Meeting) เป็นการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือและเน้นย้ำความสำคัญของการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาต่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 8 (DraftJointMinisterialStatement for the 8th MGC Ministerial Meeting) เป็นการยินดีต่อความคืบหน้าของการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการปี ค.ศ. 2016-2018 การส่งเสริมความร่วมมือในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระหว่างประเทศสมาชิกความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในทางน้ำและทางบก รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ สำหรับปี ค.ศ. 2018-2021 เพื่อเสนอในที่ประชุมรัฐมนตรีครั้งถัดไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 สิงหาคม 2560