ร่างพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย – บาห์เรน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 01 May 2017 11:52
- Hits: 21849
ร่างพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย – บาห์เรน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
- เห็นชอบร่างพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว หากมีการแก้ไขโดยที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าวให้ กค. สามารถทำการแก้ไขได้ทันทีและเมื่อแก้ไขแล้ว ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รับไปดำเนินการทางการทูต เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
- ให้ กต. รับไปดำเนินการตามแบบพิธีทางการทูตและกฎหมายภายในเพื่อให้พิธีสารดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปการจัดทำพิธีสารฯ เป็นการปรับปรุงและเพิ่มเติมบทบัญญัติให้อนุสัญญาฯ มีความสมบูรณ์และเหมาะสมกับข้อกฎหมายและลักษณะการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มเติมข้อบทใหม่หลังข้อบทที่ 26 (การเจรจาตกลงร่วมกัน) เป็นข้อบทที่ 26 ก. การแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ (Exchange of Information) ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐคู่สัญญาจะแลกเปลี่ยนข้อมูลที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้ โดยข้อมูลดังกล่าวจะถือเป็นข้อมูลลับเช่นเดียวกับข้อมูลที่ได้รับภายใต้กฎหมายภายในของรัฐนั้น และจะเปิดเผยได้เฉพาะกับบุคคลหรือทางการเท่านั้น ทั้งนี้ พิธีสารแก้ไขอนุสัญญาฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่รัฐคู่สัญญาฝ่ายหลังได้ดำเนินการแจ้งให้รัฐคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และบทบัญญัติของพิธีสารจะมีผลบังคับ
สำหรับ เงินได้ของปีภาษีที่เริ่มต้นในหรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมในปีถัดไปหลักจากพิธีสารฯ มีผลใช้บังคับและพิธีสารฯ นี้จะสิ้นผลใช้บังคับ ณ เวลาที่อนุสัญญาสิ้นสุดผลใช้บังคับตามข้อ 29 (ข้อ 29 ของอนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐคู่สัญญารัฐใดรัฐหนึ่งอาจแจ้งการเลิกใช้เป็นลายลักษณ์อักษรให้รัฐคู่สัญญาอีกรัฐหนึ่งทราบ โดยแจ้งผ่านวิธีทางการทูตในหรือก่อนวันที่ 30 มิถุนายนของปฏิทินใด ๆ หลังจากครบกำหนดห้าปีนับจากที่อนุสัญญามีผลบังคับในกรณีเช่นวันนี้อนุสัญญาเป็นอันสิ้นสุดการมีผลบังคับ
การจัดทำพิธีสารฯ จะทำให้ประเทศคู่สัญญามีการตรวจสอบธุรกรรมที่เข้าข่ายการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างสองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศคู่สัญญาสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้น และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขอข้อมูลที่จำเป็นจากประเทศคู่สัญญาเพื่อติดตามผลการจัดเก็บภาษีและการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนและมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อป้องกันการทุจริตหรือหลีกเลี่ยงภาษีอากร รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการเพื่อการขจัดหรือบรรเทาภาระภาษีซ้ำซ้อนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 เมษายน 2560