แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 08 April 2017 17:11
- Hits: 3378
แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
เรื่อง แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2560 (สงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ทุกชีวาปลอดภัย)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางและมาตรการรณรงค์ตามแนวคิด'สงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ทุกชีวาปลอดภัย' เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2560 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ.รายงานว่า
แนวทางการดำเนินการภายใต้แนวคิด 'สงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ทุกชีวาปลอดภัย' สื่อความหมาย ดังนี้
1) สงกรานต์แบบไทย หมายถึง การอนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีสงกรานต์แบบไทย ที่ทรงคุณค่าสาระอันดีงาม และการปฏิบัติตามแบบของประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม
2) ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า หมายถึง การเล่นน้ำในประเพณีสงกรานต์อย่างเหมาะสมมีการวางแผนในการใช้น้ำอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟื่อย และมีจุดมุ่งหมายการใช้น้ำที่ชัดเจน โดยที่ยังคงไว้คุณค่าและสาระในการใช้น้ำในเทศกาลสงกรานต์ และ
3) ทุกชีวาปลอดภัย หมายถึง การรักษาความปลอดภัยในเทศกาลสงกรานต์ด้วยการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด การรักษาระเบียบวินัยจราจร รวมถึงการแสดงความมีน้ำใจต่อผู้อื่นในการใช้ถนนหนทางการขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวัง
มาตรการรณรงค์
1. การรณรงค์เรื่อง 'สงกรานต์แบบไทย' ประกอบด้วย
1) การส่งเสริมให้เกิด '1 อำเภอ 1 ลานวัฒนธรรม' เพื่อเปิดพื้นที่ส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมสำหรับประชาชนในเทศกาลสงกรานต์ และร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม เช่น การจัดกิจกรรมฟังเทศน์ ฟังธรรม การทำบุญ ตักบาตร การจัดรดน้ำขอพรผู้ใหญ่และจัดการแสดงทางวัฒนธรรม เป็นต้น รวมถึงการละเล่นสงกรานต์ที่เหมาะสม
2) ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบไทย โดยการปฏิบัติตามแนวทางประเพณีสงกรานต์ที่เหมาะสม เช่น การเข้าวัด ตักบาตร ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรมหรือส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอื่นก็สามารถ ปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน
3) ขอความร่วมมือรณรงค์เรื่องการแต่งกายในเทศกาลสงกรานต์ด้วยความสุภาพเหมาะสมกับเทศกาลฯ รวมถึงการแต่งกายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การแต่งกายด้วยผ้าไทย เสื้อลายดอกหรือลายผ้าขาวม้าที่เหมาะสม และ
4) ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการจัดแสดงทางวัฒนธรรมหรือการแสดงต่าง ๆ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมต่อคุณค่าและเนื้อหาสาระของประเพณีสงกรานต์ สถานการณ์ กาลเทศะของประเทศไทยในปัจจุบัน
2. การรณรงค์เรื่อง 'การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า'ประกอบด้วย 1) ขอความร่วมมือประชาชนในการเล่นน้ำอย่างรู้คุณค่าโดยไม่สิ้นเปลือง เช่น การใช้ขันน้ำรดน้ำ เป็นต้น 2) ขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดสถานที่ในการเล่นสาดน้ำให้แก่ประชาชนหรือการกำหนดพื้นที่เล่นสาดน้ำ (Zoning) ให้คำนึงถึงความเหมาะสมของอุปกรณ์ ปริมาณการใช้น้ำอย่างเหมาะสม
3. การรณรงค์เรื่อง 'การกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย
1) ขอความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชน ผู้ประกอบการสถานบันเทิงหรือผู้จัดกิจกรรมการแสดงรื่นเริงในพื้นที่ต่าง ๆ สำรวจความเรียบร้อยของประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
2) ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามคุณค่าของประเพณีสงกรานต์และตามกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่งดงามทรงคุณค่า และสามารถสื่อไปยังสายตาของชาวต่างชาติ ถึงความปลอดภัย
3) ขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะและประชาชนที่ใช้ถนนหนทางต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงร่วมกันช่วยสอดส่อง ดูแล ตักเตือน หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่พบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เช่น การขับขี่ด้วยความมึนเมา เป็นต้น และ
4) ขอความร่วมมือสถานประกอบการขนส่ง และประชาชนเตรียมพร้อมในการขับขี่ยานพาหนะในระยะทางไกล โดยขอความร่วมมือในการตรวจสภาพยานพาหนะเพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานมากที่สุด
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 เมษายน 2560