ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 12 March 2017 20:57
- Hits: 1756
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานศาลยุติธรรม และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ มอบหมายให้ สคบ. ไปดำเนินการตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) ตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. แล้วให้แจ้งผลการดำเนินงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีอำนาจในการป้องกันและตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค เช่น ค้น ยึด หรืออายัดสินค้า ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุสินค้า ฉลากหรือเอกสารอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
2. เพิ่มเติมให้กรรมการ กรรมการเฉพาะเรื่อง และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
3. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้มี 'คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ'แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการให้รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง และปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการ แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นคณะกรรมการในการกำกับดูแลนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาท
4. กำหนดให้กรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้ สคบ. ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อออกคำบังคับตามสัญญา โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการใช้บังคับโดยอนุโลม
5. เพิ่มเติมคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ให้มีการตั้งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
6. แก้ไขเพิ่มเติมองค์กรสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
7. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแต่งตั้งพิจารณาและมีมติดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้
8. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้รับคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 36 หรือมาตรา 38 สามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการได้
9. แก้ไขเพิ่มเติมให้ค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตกเป็นรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560