การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 04 December 2016 17:55
- Hits: 4356
การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) คณะที่ 5 (ด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ) เสนอ ดังนี้
1. ให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์การกู้ให้แก่ชาวประมงที่ขอเปลี่ยนอาชีพภายใต้เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวงเงินในโครงการฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 มีนาคม 2559) เห็นชอบไว้
2. ให้ขยายเวลาในการดำเนินโครงการฯ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็น 30 เมษายน 2560
สาระสำคัญของเรื่อง
กขป. คณะที่ 5 รายงานว่า
1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงตามโครงการประมงไทยก้าวไกลสู่สากล มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย กรณีที่ต้องการปรับปรุงเรือประมงและ/หรือเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมง เรือประมง รวมทั้งอุปกรณ์ส่วนควบ ให้ถูกกฎหมาย ตามมาตรการแก้ไขปัญหาของศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมพ.)/กรมประมง โดยให้กรมประมงและกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับรองความเหมาะสมด้านราคา ตามลำดับ
2. ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมงจำนวนมากที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฯ แต่มีวัตถุประสงค์ของการกู้เพื่อเปลี่ยนอาชีพ โดยเฉพาะชาวประมงที่ทำประมงโพงพางในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา และพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอท่าใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย ศปมผ. ฝ่ายปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) กรมเจ้าท่า และกรมประมง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่าชาวประมงส่วนใหญ่จะขอเปลี่ยนอาชีพเป็น การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังการเลี้ยงสัตว์ทางการเกษตร เช่น วัว แพะ ไก่ไข่ หมู ฯลฯ การแปรรูปสัตว์น้ำ เช่น ปลาเค็ม ปลาหมึกตากแห้ง ฯลฯ ซึ่งส่วนราชการในพื้นที่อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินในการกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินในลักษณะเดียวกับการรับรองความเหมาะสมของราคาเครื่องมือทำการประมงและเรือประมงของกรมประมง และกรมเจ้าท่า
3. วงเงินช่วยเหลือตามโครงการสินเชื่อฯ ดังกล่าว มีการอนุมัติสินเชื่อแก่ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว จำนวน 129 ราย วงเงินกู้ 148 ล้านบาท ปัจจุบันคงเหลือ 352 ล้านบาท ซึ่งยังสามารถดำเนินการได้และพร้อมสนับสนุน แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์การกู้เดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 มีนาคม 2559) อนุมัติไว้ยังไม่ครอบคลุมกรณีชาวประมงจะขอเปลี่ยนอาชีพ จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การกู้ให้ครอบคลุมกรณีชาวประมงขอเปลี่ยนอาชีพ ภายใต้เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวงเงินตามโครงการสินเชื่อฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ อีกทั้งเนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินโครงการจะสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาในการดำเนินโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2560
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559