ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 27 November 2016 22:45
- Hits: 10599
ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และร่างปฏิญญาแคนคูนว่าด้วยการบูรณาการการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบในการรับรองร่างปฏิญญาแคนคูนว่าด้วยการบูรณาการการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีโดยไม่มีการลงนาม
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองปฏิญญาแคนคูนฯ
4. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีไทย และร่างปฏิญญาแคนคูนฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ จนสิ้นสุดการประชุมในวันที่ 17 ธันวาคม 2559 ณ เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาแคนคูนว่าด้วยการบูรณาการการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในเชิงนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบูรณาการการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่เน้นเรื่องอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ ชนิดพันธุ์ พันธุกรรม และระบบนิเวศ อย่างยั่งยืน และแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม แผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2011 – 2020 และเป้าหมายไอจิ (Aichi Targets) รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวาระการพัฒนาปี ค.ศ. 2030
และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในมิติต่าง ๆ เช่น การปกป้องคุ้มครองและจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นต้น ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาแคนคูนฯ ระบุแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของประเทศภาคีอนุสัญญาไว้หลายประเด็น เช่น การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การส่งเสริมงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านความหลากหลายชีวภาพ เป็นต้น
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559