ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 20 November 2016 18:59
- Hits: 1642
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กษ. เสนอว่า
1. พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536 มาตรา 3 (2) ได้กำหนดให้การชำระราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่จัดซื้อที่ดินซึ่งมีราคาเกิน 8 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับจำนวนเงิน 8 ล้านบาทแรกให้จ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด ส่วนที่ราคาเกิน 8 ล้านบาท ให้จ่ายเป็นเงินสดร้อยละ 25 และจ่ายเป็นพันธบัตรของรัฐบาลร้อยละ 75
2. กษ. โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มีนโยบายที่จะเร่งรัดการจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดให้แก่ผู้ไร้ที่ดินทำกินที่ขึ้นทะเบียนขอรับการจัดที่ดินจาก ส.ป.ก. แต่เนื่องจาก ส.ป.ก. ไม่สามารถจัดซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ได้ เพราะเจ้าของที่ดินไม่ต้องการรับชำระราคาที่ดินเป็นพันธบัตรรัฐบาล จึงไม่ขายที่ดินให้ ส.ป.ก. ทั้งนี้ ปัจจุบัน ส.ป.ก. มีการจัดซื้อที่ดินในราคาเกินกว่าแปลงละ 8 ล้านบาทได้เพียงแปลงเดียวใน ปี พ.ศ. 2543 ที่จังหวัดพะเยา
3. ปัจจุบันเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีสภาพคล่องสูงขึ้นเพียงพอที่จะชำระราคาที่ดินเป็นเงินสดได้ทั้งจำนวน ประกอบกับหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วน ที่ กค 0900/9674 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 กระทรวงการคลัง (กค.) มีความเห็นว่าการกำหนดให้มีการชำระราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่จัดซื้อเพื่อการปฏิรูปที่ดิน โดยให้ กค. เป็นผู้ออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการชำระราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับหลักการและวัตถุประสงค์ในการกู้เงินของ กค. ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารหนี้สาธารณะ สมควรแก้ไขโดยให้ใช้เงินสดจากเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการจัดซื้อที่ดิน และหาก ส.ป.ก. มีเงินสดไม่เพียงพอในการจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาปฏิรูป ให้เสนอขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐบาลเพื่อใช้ในการดำเนินการดังกล่าว
4. ส.ป.ก. จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งตามหนังสือ กค. ด่วนที่สุดที่ กค 0402.2/16167 ลงวันที่ 1 กันยายน 2557 กค. มีความเห็นว่า กรณีตามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กำหนดให้ ‘การชำระราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่จัดซื้อให้จ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด’
เป็นการกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 35 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินค่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ ส.ป.ก. จัดซื้อไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยไม่ต้องระบุให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2551 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ ส.ป.ก. จัดซื้อ โดยให้จ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด ดังนี้
พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคาและค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536
มาตรา 3 การชำระราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่จัดซื้อให้จ่ายเป็นเงินสดหรือเงินสดและพันธบัตรของรัฐบาล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่จัดซื้อซึ่งมีราคาไม่เกินแปดล้านบาท ให้จ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด
(2) ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่จัดซื้อซึ่งมีราคาเกินแปดล้านบาทขึ้นไป สำหรับเงินจำนวนแปดล้านบาทแรกให้จ่ายตาม (1) ส่วนที่เกินแปดล้านบาทให้จ่ายเป็นเงินสดร้อยละยี่สิบห้า และจ่ายเป็นพันธบัตรของรัฐบาลร้อยละเจ็ดสิบห้า เว้นแต่ในกรณีส่วนที่จะต้องจ่ายเป็นพันธบัตรรัฐบาลมีจำนวนต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทให้จ่ายเป็นเงินสด
ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ กษ. เสนอ
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคา และค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2520 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการชำระราคา และค่าทดแทนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
'มาตรา 3 การชำระราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่จัดซื้อให้จ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด'
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559