ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 22 October 2016 20:54
- Hits: 9478
ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการพลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกข้าราชการ
พลเรือนเพื่อเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.
1. กำหนดให้มี 'คณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ' หนึ่งคณะ ทำหน้าที่ในการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ใน อ.ก.พ.สามัญ [เดิมมีคณะกรรมการ 2 ประเภท คือ (1) คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ และ (2) คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ)]
2. องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย ประธาน อ.ก.พ. กระทรวง ประธาน อ.ก.พ. กรม หรือ ประธาน อ.ก.พ. จังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการ อนุกรรมการโดยตำแหน่ง ใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด และข้าราชการพลเรือนผู้ได้รับเลือกใน อ.ก.พ. สามัญ นั้น เป็นกรรมการ และให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของ อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นเลขานุการ
3. กระบวนการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปได้ ดังนี้
3.1 ประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ
3.2 กรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคนเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญในแต่ละด้านให้เลขานุการ
3.3 เลขานุการคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ตามข้อ 3.2 รวมกับรายชื่อที่เลขานุการสรรหา พร้อมประวัติและผลงานโดยย่อ แยกเป็นรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้าน ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และไม่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.พ. โดยผู้ทรงคุณวุฒิอาจมีชื่ออยู่ในหลายด้านก็ได้ แล้วเสนอบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา
3.4 คณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากบัญชีรายชื่อที่เลขานุการเสนอ โดยพิจารณาผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์สูง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของบุคคลในด้านนั้น ๆ เป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมืองแล้วนำรายชื่อเสนอประธาน อ.ก.พ. สามัญ เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. จังหวัด แล้วแต่กรณี การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวจะต้องได้รับการยินยอมก่อน ทั้งนี้ อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน อ.ก.พ. สามัญทุกคณะ จะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเท่าที่อนุกรรมการโดยตำแหน่งกำหนด และต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิครบทั้งสามด้าน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสองด้านก็ได้
4. วาระการดำรงตำแหน่งของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ กำหนดให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ดำรงตำแหน่งตามวาระติดต่อกันในคณะเดิมได้ไม่เกิน 2 วาระ และให้ดำรงตำแหน่งในเวลาเดียวกันได้ไม่เกินจำนวน 3 คณะ
5. บทเฉพาะกาล กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญสิ้นสุดลง และให้ดำเนินการสรรหาอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎ ก.พ. นี้ใช้บังคับ ในระหว่างระยะเวลาสรรหา ให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปพลางก่อน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ตุลาคม 2559