ร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 22 October 2016 20:40
- Hits: 9312
ร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณารวมกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. .... โดยให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และนโยบายของรัฐบาล และให้รับความเห็นของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้รายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมด ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาจ่ายเป็นค่าชดเชยที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ค่าตอบแทนที่ดินที่เกษตรกรได้รับกรรมสิทธิ์และใช้จ่ายอื่น ๆ ได้
2. แก้ไขที่มาของรายได้ที่ ส.ป.ก. ได้รับ ให้ครอบคลุมรายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
3. แก้ไขวาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรเพิ่มจาก 2 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
4. ยกเลิกการห้ามจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ในที่ดิน
5. เพิ่มให้ ส.ป.ก. มีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปที่ดินได้ โดยไม่ต้องประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้การจัดซื้อที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกร ผู้ไร้ที่ดินทำกินทำได้จำนวนมากและรวดเร็วยิ่งขึ้น
6. กำหนดให้มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ออกเป็น 3 เขตพื้นที่โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ได้แก่ เขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร เขตพื้นที่ที่สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เขตพื้นที่เพื่อการอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ และให้อำนาจคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจำแนก และเปลี่ยนแปลงเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดินสำหรับใช้ในการปฏิบัติการงาน และให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่น
7. กำหนดวิธีการจัดที่ดินของรัฐโดยการจัดให้แก่เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) จนกว่า ส.ป.ก. ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และเกษตรกรมีความพร้อมในด้านการเงินและมีความประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงจัดให้โดยการเช่าซื้อตามความจำนง นอกจากนี้ ให้ ส.ป.ก. สามารถบริหารจัดการที่ดินที่ได้มาตามพระราชบัญัญัตินี้ทั้งหมด โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
8. ยกเลิกการแจ้งการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อ ส.ป.ก. เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชน
9. ปรับปรุงการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับคู่สัญญาของ ส.ป.ก. โดยให้คู่สัญญาของ ส.ป.ก. ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ด้วย
10. กำหนดให้เจ้าของที่ดินสามารถโอนที่ดินให้ทายาทโดยธรรม รวมทั้ง สามารถโอนให้แก่ ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจได้ เพื่อประโยชน์สาธารณะได้โดยไม่ต้องรอให้เสียชีวิตก่อน และยกเลิกการโอนให้สถาบันเกษตรกรนอกนั้นคงเดิม และกำหนดให้มีการควบคุมขนาดเนื้อที่การถือครองที่ดินในรุ่นทายาทผู้รับโอนหรือรับมรดก ในขนาดเนื้อที่ไม่เกินที่กำหนดไว้
11. กำหนดบทควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งก่อนและหลังได้รับกรรมสิทธิ์จากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
12. ยกเลิกบทกำหนดโทษกรณีไม่แจ้งการครอบครองที่ดิน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ตุลาคม 2559