ร่างพระราชบัญญัติการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 15 October 2016 17:41
- Hits: 1510
ร่างพระราชบัญญัติการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดนิยามของคำสำคัญ ได้แก่ สินค้า เทคโนโลยี สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สินค้าที่ใช้ได้สองทาง สินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เหตุอันควรสงสัย และกิจกรรมที่ควบคุม เป็นต้น
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เรียกโดยย่อว่า “กอทส.” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งอีก 15 คน มีอำนาจหน้าที่กำหนดหรือแก้ไขนโยบายมาตรการและแนวทางเกี่ยวกับการบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งกำกับดูแลประสานงานสั่งการและติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด
3. กำหนดมาตรการในการดำเนินกิจกรรมที่ควบคุมซึ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ดังนี้
3.1 ในกรณีนี้จำเป็นหรือสมควรเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศในการดำเนินกิจกรรมที่ควบคุมซึ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดมาตรการซึ่งมาตรการใด เช่น กำหนดให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงใดเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต กำหนดให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำล้ายล้างสูงใดเป็นสินค้าที่ต้องรับรองว่าไม่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือกำหนดมาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการแพร่ขยายของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
3.2 ให้อธิบดีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมาย มีอำนาจกำหนดรายการในบัญชีสินค้าที่ใช้ได้สองทางบัญชีสินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง รายการในบัญชีอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้
3.3 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต การรับรอง พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ใบรับรอง รวมถึงการกำหนดให้นำค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากใบอนุญาต ใบรับรอง ไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้นำไปใช้ได้เฉพาะในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัตินี้ และการพัฒนา ปรับปรุง บำรุงรักษาระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
3.4 กำหนดให้บทกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากร ในส่วนที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันการลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของ หรือการจับกุมผู้กระทำความผิด การสำแดงเท็จ และการฟ้องร้อง ให้ใช้บังคับแก่การดำเนินกิจกรรมที่ควบคุมซึ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีกรมศุลกากรหรือคณะกรรมการเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับกับการเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม
4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์
5. กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีอำนาจเข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใด ๆ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อตรวจค้น ตรวจสอบและควบคุมหรือเพื่อตรวจสอบระบบงานควบคุมภายในของนิติบุคคลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งมีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้สถาบันการเงิน ส่วนราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประกอบการพิจารณา ตลอดจนยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
6. กำหนดบทกำหนดโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้
7. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการใด ๆ ที่ได้ปฏิบัติอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ตุลาคม 2559