การขอความความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่นครนิวยอร์ก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 25 September 2016 22:41
- Hits: 5827
การขอความความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่นครนิวยอร์ก
เรื่อง การขอความความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่นครนิวยอร์ก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Foreign Minister's Statement on ASEAN Cooperation on Sustainable Development) และร่างกรอบความร่วมมืออาเซียน - กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (ASEAN - Pacific Alliance Framework for Cooperation) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารข้างต้นในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารข้างต้น จำนวน 2 ฉบับ
สาระสำคัญของร่าง 2 ฉบับ มีดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการแสดงความตระหนักถึงความสำคัญและการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายข้างต้น และเพื่อเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาจัดลำดับประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่อาจดำเนินการได้ทันที (Priority Areas) เช่น การขจัดความยากจน การบริหารจัดการภัยพิบัติ การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน สาธารณสุข การเสริมสร้างศักยภาพสตรี หลักธรรมาภิบาลที่ดี และการต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมทั้งพัฒนาแผนงาน (Roadmap) ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติและองค์กรเฉพาะทางอาเซียนในการผลักดันเป้าหมายทั้งสองให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
2. ร่างกรอบความร่วมมืออาเซียน - กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก เป็นกรอบความร่วมมือซึ่งระบุถึงเจตจำนงของอาเซียนและกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกที่จะผลักดันความสัมพันธ์ของทั้งสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยกำหนดขอบเขตและสาขาความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองภูมิภาคเพิ่มเติมในอนาคตด้วย โดยร่างกรอบความร่วมมือฯ ระบุถึงการจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้
1) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
2) การศึกษาและปฎิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
3) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ
4) การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กันยายน 2559