มาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมภายในท้องถิ่น
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 18 September 2016 20:17
- Hits: 2532
มาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมภายในท้องถิ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอและมอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ พร้อมทั้งจัดทำระบบกำกับดูแล ติดตามโครงการและรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน
สาระสำคัญของ
กค. ได้เสนอมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของ อปท. ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 จำนวน 2 มาตรการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ อปท. นำเงินสะสมมาใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น ดังนี้
1. มาตรการสนับสนุนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและ อปท. (Matching Fund) มี วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ และสร้างแรงจูงใจให้ อปท. มีบทบาทในการพัมนาและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ของตนเองร่วมกับรัฐบาล กลุ่มเป้าหมาย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) (ไม่รวมกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) รวม 7,851 แห่ง ประเภทโครงการ จะต้องเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. ตามแผนการพัฒนาของ อปท.ที่จัดทำตามระเบียบกระทวงมหาดไทยว่าด้วย การจัดทำแผนพัฒนาของ อปท.พ.ศ. 2548 เช่น โครงการพัฒนาเส้นทาง การคมนาคม โครงสร้างพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวชุมชน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ อปท. ได้รับการถ่ายโอนจากส่วนราชการต่าง ๆ และจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ของ อปท. และ อปท. สามารถเสนอโครงการที่จะดำเนินการได้มากกว่า 1 โครงการแต่ไม่เกินวงเงินสูงสุดที่ อปท. แต่ละประเภทจะได้รับ
สำหรับ กลไกการดำเนินงาน ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (มท.) ดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการดำเนินมาตรการ โดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สงป. กค. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
2. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ อปท. จะขอรับเงินอุดหนุน
3. ให้สำรวจเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามประเภทที่ได้กำหนดไว้สำหรับมาตรการนี้ ตามความต้องการของ อปท. จำนวน 7,851 แห่ง เพื่อประกอบการพิจารณาของ สงป. ก่อนการจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท. ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
4. ให้กำกับดูแลติดตามโครงการ และรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน
2. มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ อปท. มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน กลุ่มด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการในท้องถิ่น กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนกลุ่มด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและผู้พิการในเขต อบจ. เทศบาล และ อบต. (ไม่รวมกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) ประเภทโครงการ เป็นโครงการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของ อปท. ดังนี้
1) โครงการพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น
2) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กผู้ด้อยโอกาส
3) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
4) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ
กลไกการดำเนินงานให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (มท.) ดำเนินการ ดังนี้
1) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติในการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และพิการ
2) กำหนดหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์หรือสิ่งจูงใจให้แก่ อปท. ที่ได้ดำเนินโครงการตามข้อกำหนด เช่น การจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นรางวัลให้แก่ อปท. จากเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้แก่ อปท. ตามพระราชบัญญัติที่กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ส. 2542
3) ให้กำกับดูแล ติดตามโครงการ และรายงานความคืบหน้าให้ ครม. ทราบทุกเดือน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กันยายน 2559