ร่างพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 07 August 2016 18:01
- Hits: 1932
ร่างพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ. ศ. .... ของกระทรวงแรงงาน (รง.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดฯ
1. กำหนดบทนิยามการนำคนต่างด้าวมาทำงานตามพระราชกำหนดนี้ให้ชัดเจน โดยหมายความเฉพาะการดำเนินการนำคนต่างด้าวที่รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ หรือตามนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจ้างแรงงานมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ตลอดจนกำหนดบทนิยามของถ้อยคำอื่น ๆ ที่มีความหมายเฉพาะตามพระราชกำหนดนี้
2. กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ดังนี้
2.1 การนำคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศมี 2 วิธี
(1) กรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ
(2) กรณีที่นายจ้างเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
2.2 กำหนดเหตุพิเศษเฉพาะเรื่องในกรณีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงเศรษฐกิจ ภัยพิบัติสาธารณะ หรือกรณีอื่นในลักษณะเดียวกัน ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีกำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ หรือยกเว้นการปฏิบัติใดๆ ตามที่พระราชกำหนดนี้กำหนดไว้ได้
2.3 กำหนดให้นายจ้างซึ่งเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนเองในประเทศต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีเพื่อความชัดเจน
3. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้าง ดังนี้
3.1 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ดังนี้
(1) มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วตามที่อธิบดีประกาศกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท
(2) มีทุนเป็นของผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนทุนทั้งหมดและจะต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด เว้นแต่ในกรณีที่มีสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเงื่อนไขของสนธิสัญญาหรือความผูกพันตามพันธกรณีนั้น
(3) มีสำนักงานอยู่ในที่ตั้งที่เป็นสัดส่วน เปิดเผย มีหลักแหล่งที่แน่นอน และไม่เป็นสถานที่ต้องห้ามตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(4) ไม่เป็นผู้รับอนุญาต ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ กฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเล
(5) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้จัดการ
3.2 กำหนดหลักเกณฑ์การวางหลักประกันความเสียหายของผู้รับอนุญาต โดยผู้ขออนุญาตต้องวางหลักประกันอันสมควรไว้กับอธิบดี เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการนำคนต่างด้าว และเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ ก่อนที่อธิบดีจะออกใบอนุญาตให้แก่ผู้มาขออนุญาต เป็นจำนวนเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าล้านบาท
3.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องทำสัญญาการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ โดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
3.4 กำหนดห้ามผู้รับอนุญาตเรียกหรือรับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดจากนายจ้าง เว้นแต่ค่าบริการและค่าใช้จ่ายตามรายการและอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมทั้งห้ามผู้รับอนุญาตเรียกหรือรับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดจากคนต่างด้าว
3.5 ผู้รับอนุญาตต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศต่ออธิบดี ตามแบบรายงานที่อธิบดีกำหนดภายในวันที่สิบของเดือนถัดไป
4. กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของนายจ้างหรือผู้รับอนุญาต ดังนี้
4.1 นายจ้างต้องวางหลักประกันไว้กับอธิบดี เมื่อได้รับหลักประกันแล้วให้อธิบดีอนุญาตให้นายจ้างนั้นนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศได้
4.2 กำหนดให้นายจ้างส่งคนต่างด้าวกลับไปยังประเทศต้นทางภายใน 7 วัน นับแต่วันที่คนต่างด้าวไม่ได้ทำงานกับนายจ้างหรือวันที่ครบกำหนดตามสัญญา หากไม่ดำเนินการให้อธิบดีส่งกลับ โดยหักค่าใช้จ่ายจากหลักประกันที่นายจ้างได้วางไว้
4.3 กำหนดให้กรณีที่ผู้รับอนุญาตไม่นำคนต่างด้าวมาทำงานตามสัญญาการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ให้คืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากนายจ้างไปแล้วทั้งหมดให้แก่นายจ้างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาดังกล่าว
4.4 กำหนดให้กรณีที่คนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามพระราชกำหนดนี้และต้องถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายอื่นให้หน่วยงานที่ดำเนินการส่งคนต่างด้าวกลับไปยังประเทศต้นทางเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตได้
5. กำหนดบทควบคุมผู้รับอนุญาต ดังนี้
5.1 ผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศต้องใช้ชื่อ คำแสดงชื่อ หรือคำอื่นใดในการประกอบธุรกิจว่า “บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ” และจะใช้ถ้อยคำหรืออักษรต่างประเทศอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกันประกอบด้วยก็ได้
5.2 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปสถานที่ประกอบธุรกิจในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบควบคุมตามปกติ และกำหนดเหตุในการเข้าไปในเคหสถานเพื่อตรวจค้น ยึดหรืออายัดกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกำหนดความผิดตามพระราชกำหนดได้โดยไม่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ในการเข้าตรวจค้น
5.3 กำหนดให้กรณีที่ผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศต้นทาง หรือมีส่วนสนับสนุนการปฏิบัติดังกล่าว และอธิบดีได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศต้นทางหรือห้ามดำเนินการดังกล่าวแล้ว แต่ผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งเตือน ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
6. กำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับลักษณะความผิด แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาจากการกระทำความผิดแทนผู้เสียหายในลักษณะเดียวกับมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ. ศ. 2559 และกำหนดให้กรณีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น แล้วแต่กรณี มีอำนาจเปรียบเทียบได้
7. บทเฉพาะกาลกำหนดให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ที่ได้ดำเนินการจัดหาคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับให้ดำเนินการต่อไปได้อีกไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กรกฏาคม 2559