กรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง และโครงการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ระดับประเทศ (ฝ่ายไทย)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 June 2016 18:51
- Hits: 6185
กรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง และโครงการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ระดับประเทศ (ฝ่ายไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ระดับประเทศ (ฝ่ายไทย)
2. เห็นชอบกรอบนโยบายแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สำหรับใช้เป็นกรอบการหารือในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ร่วมระดับประเทศกับฝ่ายกัมพูชา
3. เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยหารือกับฝ่ายกัมพูชาตามประเด็นที่อยู่ในกรอบการหารือ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการลับลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ของทั้งสองฝ่าย หากที่ประชุมได้ตกลงกันนอกเหนือจากกรอบการหารือตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ และการตกลงดังกล่าวจะเกิดเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้ ทส. หารือกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อให้ความเห็นชอบ และให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง
สาระสำคัญของกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 6 ข้อ เพื่อใช้เป็นกรอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้เป็นกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ร่วมระดับประเทศกับฝ่ายกัมพูชา มีดังนี้
1) เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
2) เพิ่มประสิทธิภาพของการปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง
3) เสริมสร้างและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับจังหวัดชายแดนไทยกับจังหวัดชายแดนกัมพูชา
4) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
5) ส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ และ
6) ในการดำเนินการใด ๆ ของฝ่ายไทยและกัมพูชา ทั้งสองประเทศจะคำนึงถึงหลักการของอำนาจอธิปไตยสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ระดับจังหวัด จำนวน 7 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มิถุนายน 2559