ขออนุมัติหลักการในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพให้กับผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 18 June 2016 22:24
- Hits: 6226
ขออนุมัติหลักการในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพให้กับผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ
เรื่อง ขออนุมัติหลักการในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพให้กับผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพภายใต้โครงการสร้างโอกาสในการพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบอาชีพ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการในการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ให้กับผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะใน 53 สาขาวิชาชีพ ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อสร้างรายได้และความก้าวหน้าในอาชีพ ในระยะ 5 ปีแรก ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2563 ประมาณ 310,000 คน ภายใต้โครงการสร้างโอกาสในการพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบอาชีพ โดย สคช. ใช้เงินสะสมเหลือจ่ายสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับผู้เข้ารับการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 15,000 คน 37,500,000 บาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.)
2. อนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานวิชาชีพ จำนวน 2,500 บาทต่อ 1 คน ต่อ 1 อาชีพ ต่อ 1 ระดับชั้น สำหรับผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะบุคคลมาตรฐานอาชีพโดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ และบุคลากรในอาชีพที่มีรายได้น้อย ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2563 ประมาณ 295,000 คน
สาระสำคัญของเรื่อง
สคช. รายงานว่า
1. สคช. เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการทางเศรษฐกิจตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ สนับสนุนให้คนในอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพและให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเพื่อประเมินสมรรถนะบุคคลในการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ เป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานวิชาชีพ พัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบอาชีพของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พัฒนาบุคลากรในอาชีพให้มีสรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและมีใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อยืนยันสมรรถนะของบุคลากรในอาชีพ อันเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ
2. เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ Super Cluster และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สคช. จึงได้สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สมาคม/สมาพันธ์ และองค์การภาคเอกชนต่าง ๆ โดยการให้การรับรองเพื่อให้มีองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพกระจายทั่วประเทศ ทำหน้าที่รับสมัครและจัดให้มีการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพในแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อให้มาตรฐานอาชีพที่ได้จัดทำขึ้นถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความก้าวหน้าในสายอาชีพและการนำไปสู่การเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษา โดยการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพแก่ผู้ประกอบอาชีพที่ผ่านการประเมินสมรรถนะ
3. ในการประเมินสมรรถนะบุคคลแต่ละครั้ง จะมีค่าธรรมเนียมในการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพประมาณ 2,500 บาท ต่อคนต่ออาชีพสำหรับการทดสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สคช. ได้จัดทำโครงการสร้างโอกาสในการพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบอาชีพ เพื่อสนับสนุนค่าธรรมเนียมในการประเมินสมรรถนะฯ ให้กับผู้ประกอบอาชีพและนักเรียนนักศึกษาที่สมัครเข้ารับการประเมินสมรรถนะกับองค์กรรับรองฯ เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดระบบคุณวุฒิวิชาชีพขึ้นในประเทศไทยรองรับการแข่งขันกับนานาประเทศเมื่อเข้าสู่ AEC
4. สคช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งประเทศไทยในการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิวิชาชีพกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และได้ร่วมพัฒนากรอบคุณวุฒิเทียบเคียงอาเซียน (AQRF) กับอีก 9 ประเทศในอาเซียน อีกทั้งยังร่วมกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ สนับสนุนการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อรับรองสมรรถนะของบุคลากรในอาชีพทั้งสิ้น 72 สาชาวิชาชีพ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 46 สาชาวิชาชีพ 500 กว่าอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ และมีแผนจะทำจนครบทั้ง 72 สาขาวิชาชีพในปี 2559 – 2562 รวมทั้งได้ให้การรับรององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพกระจายทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบัน สคช. ร่วมกับองค์กรรับรองฯ จัดให้มีการประเมินสมรรถนะแล้ว 14,980 คน ใน 16 สาขาอาชีพ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์โลจิสติกส์ โรงแรมและการท่องเที่ยวแมคคาทรอนิกส์ เป็นต้น
5. สคช. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอชน และภาคประชาสังคม เพื่อการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา (Competitive Workforce)ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับภาคเอกชน (คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ชุดที่ 4) โดยได้ร่วมเป็นหัวหน้าคณะทำงาน “Standard and Certification”ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ชุดที่ 4 ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต (Competitive Workforce) โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและการพัฒนากำลังคนของภาคอุตสาหกรรม บริการและภาคการเกษตร และภาคการศึกษา เป็นนโยบายสำคัญของชาติที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ Super Cluster ทั้งนี้ สคช. ได้จัดทำกรอบแผนพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ 10 ปี (2559 - 2569)ดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบคุณวุฒวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพอย่างเป็นระบบ เป็นไปตามเป้าหมาย นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสอดคล้องกับทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม Super Cluster ทั้งในส่วนของ Frist S Curve และ New S Curve สามารถรองรับการสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มิถุนายน 2559