การเสนอตราสารขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยประชุมที่ 99-104
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 12 June 2016 18:42
- Hits: 5038
การเสนอตราสารขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยประชุมที่ 99-104
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบอนุสัญญา พิธีสาร และข้อเสนอแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยประชุมที่ 99-104 (พ.ศ. 2553-2558) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบต่อไป โดยให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
รง. เสนอว่า
1. ประเทศไทยโดย รง. เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) โดยทุกปีประเทศไทยแต่งตั้งผู้แทนสามฝ่าย (Credential) ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีเพื่อร่วมพิจารณาประเด็นทางวิชาการ แผนงานและแผนงบประมาณขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งการร่วมโหวตเพื่อรับรองตราสาร (Instrument)ประกอบด้วยอนุสัญญา (Convention) พิธีสาร (Protocol) และข้อแนะ (Recommendation) ฉบับใหม่เมื่อมีการเสนอเข้าสู่วาระการประชุม
2. ในการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference : ILC) สมัยประชุมที่ 99- 104 ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2558 มีอนุสัญญาพิธีสารและข้อแนะได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 7 ฉบับ ประกอบด้วย
2.1 อนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยคนงานทำงานในบ้าน ค.ศ. 2011
2.2 พิธีสารเพื่อเป็นส่วนเสริมอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930
2.3 ข้อแนะฉบับที่ 200 ว่าด้วยเอชไอวี/เอดส์ และโลกแห่งการทำงาน ค.ศ. 2010
2.4 ข้อแนะฉบับที่ 201 ว่าด้วยคนงานทำงานในบ้าน ค.ศ. 2011
2.5 ข้อแนะฉบับที่ 202 ว่าด้วยพื้นฐานความคุ้มครองทางสังคม ค.ศ. 2012
2.6 ข้อแนะฉบับที่ 203 ว่าด้วยมาตรการส่วนเสริมสำหรับการปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ ค.ศ. 2014
2.7 ข้อแนะฉบับที่ 204 ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นในระบบ ค.ศ. 2015
3. โดยที่ธรรมนูญองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มาตรา 19 วรรค 5 (ข) (ค) และวรรค 6 (ข) (ค) ระบุพันธกรณีของประเทศสมาชิกในเรื่องอนุสัญญาและข้อแนะว่าประเทศสมาชิกจะต้องนำอนุสัญญาและข้อแนะที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ไปเสนอต่อทางราชการหรือหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อรับทราบเกี่ยวกับสถานภาพการออกอนุสัญญาและข้อแนะ และประเทศสมาชิกต้องแจ้งต่อผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกกฎหมายคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกิจในฐานะสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในการนำเสนออนุสัญญา พิธีสาร และข้อแนะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทราบ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มิถุนายน 2559