WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับรัสเซียเกี่ยวกับความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และการเสนอร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริม

GOVPolicyการลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับรัสเซียเกี่ยวกับความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และการเสนอร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริม

 

     เรื่อง การลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับรัสเซียเกี่ยวกับความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และการเสนอร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อดำเนินการลงนามและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ

      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

     1. เห็นชอบต่อการลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับสหพันธ์รัฐรัสเซียเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Joint Statement on the Conclusion of Negotiations on the Agreement between the Government of the Russian Federation and the Government of the Kingdom of Thailand on Promotion and Reciprocal of the Investments) เพื่อการลงนามและให้ความเห็นชอบต่อร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลแห่งราชาอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Russian Federation on the Promotion and Reciprocal Protection of Investments) เพื่อดำเนินการลงนามและดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ

      2. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือแจ้งฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อให้ร่างความตกลงฯ มีผลใช้บังคับภายหลังการลงนาม

      3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างความตกลงฯ

      4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ และร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ สรุปได้ ดังนี้

   1. ภาคีคู่สัญญาจะให้ความคุ้มครองเฉพาะการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยความตกลงฯ จะไม่บังคับใช้กับข้อพิพาท ที่เกิดขึ้นก่อนความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ

     2. ภาคีคู่สัญญาจะสนับสนุนและสร้างภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในดินแดนของตน และจะมีผลใช้บังคับเฉพาะการลงทุนที่เกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 (ซึ่งเป็นปีหลังการล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต)

    3. ในส่วนของการประติบัติต่อการลงทุน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะให้การประติบัติที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนและผลตอบแทนของนักลงทุนของตน หรือต่อการลงทุนและผลตอบแทนของนักลงทุนของรัฐที่สาม ใด ๆ โดยมีข้อจำกัดอยู่ที่สิทธิพิเศษ หรือเอกสิทธิใดๆ ที่อาจเป็นผลมาจากการที่ภาคีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นภาคีความตกลงที่เกี่ยวกับศุลกากร ความตกลงเขตการค้าเสรี สหภาพทางการเงิน หรือความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีอากร

     4. ภาคีคู่สัญญาจะให้การประติบัติที่เป็นคุณไม่มากไปกว่าการประติบัติที่ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายให้ตามพันธกรณี ภายใต้ความตกลงที่สถาปนาองค์การการค้าโลก (Agreement establishing the World Trade Organisation) และความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (Gerneral Agreement on trade in Services- GATS) และภายใต้ความตกลงพหุภาคีอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการประติบัติต่อการลงทุน ซึ่งบรรลุได้โดยภาคีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วม แต่จะไม่กระทบกับข้อบทการเวนคืน ค่าทดแทนความสูญเสีย การระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับภาคีคู่สัญญา

     5. การลงทุนของนักลงทุนของภาคีคู่สัญญาจะไม่ถูกเวนคืน เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นภายในประเทศ ภายใต้กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายบนพื้นฐานของการไม่เลือกประติบัติ โดยต้องมีการชำระค่าทดแทนที่มีจำนวนเท่ากับมูลค่าตลาดของการลงทุนที่ถูกเวนคืนโดยพลัน มีประสิทธิผลและเพียงพอ โดยหากมีการจ่ายค่าทดแทนล่าช้า  อัตราดอกเบี้ยจะอิงตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามท้องตลาด

     6. ในกรณีที่การลงทุนของนักลงทุนของภาคีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งประสบความสูญเสียอันเนื่องมาจากสงคราม การจลาจลหรือเหตุการณ์อื่นที่คล้ายคลึงกันนักลงทุนจะได้รับการให้คืน ชดใช้ ชำระค่าทดแทน หรือการชดใช้อื่น ๆ ที่ไม่ด้อยไปกว่าที่ภาคีคู่สัญญาผู้รับการลงทุนให้แก่นักลงทุนของตนหรือนักลงทุนของรัฐที่สามใด ๆ แล้วแต่ว่ากรณีใดจะเป็นคุณกว่ากัน

     7. ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะให้การประกันต่อนักลงทุนของภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งว่า สามารถโอนเงินเข้าและออกจากดินแดนได้โดยเสรี โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายภายในที่กำหนด

     8. ในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างภาคีคู่สัญญาและนักลงทุนของภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภายใต้ความตกลงฯ คู่พิพาทจะต้องดำเนินการ ดังนี้

     8.1 คู่พิพาทจะต้องระงับข้อพิพาทอย่างฉันมิตรโดยวิธีการเจรจาหรือการปรึกษาหารือ ภายในระยะเวลา 6 เดือน

     8.2 หากไม่สามารถระงับข้อพิพาทตามช่องทางดังกล่าวได้ นักลงทุนมีสิทธิที่จะยื่นฟ้องร้องภายใต้กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ หรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ โดยคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการให้ถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันคู่พิพาท

    9. ในกรณีที่มีการยื่นข้อพิพาทมากกว่า 2 ข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และข้อพิพาทนั้นต้องการได้รับคำวินิจฉัยที่เหมือนกันและเกิดขึ้นจากเหตุการณ์เดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน นักลงทุนอาจขอรวมการพิจารณาข้อพิพาทเหล่านั้นได้

    10.นักลงทุนไม่สามารถอาศัยสิทธิภายใต้ข้อบทการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งในการนำข้อบทการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนภายใต้ความตกลงฉบับอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในความตกลงฉบับนี้มาใช้ได้

      11.ภาคีคู่สัญญาจะปรึกษาหารือกันเมื่อได้รับการร้องขอจากอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์ในการตีความและการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้

     12.ภาคีคู่สัญญาจะต้องแจ้งอีกฝ่ายว่า ตนได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในของตนเสร็จสิ้นแล้วอันจะมีผลให้ความตกลงฯ นี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งความตกลงฯ ไทยกับรัสเซียจะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแจ้งครั้งหลังของการแจ้งทั้งสอง โดยความตกลงฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 15 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีก 5 ปี จนกว่าจะถูกบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรจากภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

     ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ฯ ร่วมเป็นเอกสารที่กล่าวถึงความพยายามของทั้งสองฝ่ายในการสรุปผลการเจรจาความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า ความตกลงฯ ดังกล่าวจะสร้างเงื่อนไขที่ดีต่อการลงทุน และจะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุน รวมถึงเพิ่มมูลค่าการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียด้วย

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤษภาคม 2559

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!