ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารอาเซียนที่จะรับรองในการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 24
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 15 May 2016 21:07
- Hits: 3578
ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารอาเซียนที่จะรับรองในการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 24
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบเพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมงานที่มีคุณค่าในอาเซียน และร่างแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน 2016-2020 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับรองร่างเอกสารทั้งสองฉบับ
2. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้งสองฉบับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญ
1. ร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนเพื่อส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ ซึ่งร่างปฏิญญาฯ ยกร่างด้วยหลักการดังนี้ 1) ส่งเสริมนโยบายการจ้างงานที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยเฉพาะในชนบท โดยการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ 2) สร้างและขยายการจ้างงานที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเท่าเทียม 3) อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดี 4) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว 5) การดำเนินการตามร่างเอกสารฉบับนี้เป็นไปตามกฎระเบียบ นโยบาย และแผนงานระดับชาติของแต่ละประเทศสมาชิก ทั้งนี้ หลังจากรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนให้การรับรองต่อร่างปฏิญญาฯ แล้ว ประเทศเจ้าภาพจะนำร่างเอกสารฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28 เพื่อให้การรับรองขั้นสุดท้ายต่อไป
2. ร่างแผนงานฯ เป็นเอกสารกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยร่างแผนงานฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอาเซียนผ่านกำลังแรงงานโดยการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเข้าร่วมในงานที่มีคุณค่า และปลอดภัยที่ได้รับจากการจ้างงานที่มีผลิตภาพ สถานประกอบการที่สมานฉันท์ และมีความก้าวหน้า รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ ซึ่งร่างแผนงานฉบับนี้มีสาขาความร่วมมือ 23 สาขา อาทิ ระบบข้อมูลด้านตลาดแรงงาน การส่งเสริมผลิตภาพแรงงานในภาคนอกระบบ มาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การขยายความคุ้มครองทางสังคมให้แก่แรงงานทุกคน การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบของการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาวิจัย การรวบรวมเผยแพร่ข้อมูลด้านแรงงาน ซึ่งจะดำเนินการตามความสมัครใจ และภายใต้เงื่อนไขของกฎระเบียบภายในของประเทศสมาชิก
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤษภาคม 2559