การประเมินส่วนราชการและข้าราชการพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 11 April 2016 00:04
- Hits: 4473
การประเมินส่วนราชการและข้าราชการพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการประเมินโดยแบบประเมินข้าราชการฯ และแบบประเมินส่วนราชการ และให้นำแบบประเมินฯ นี้ไปใช้ในการประเมินข้าราชการและการประเมินส่วนราชการในรอบการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รายงานว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ 5/2559 เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้การประเมินยึดหลักประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประจำหรืองานตามหน้าที่ปกติ (Function Based) งานตามยุทธศาสตร์กานโยบาย หรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based) และงานตามพื้นที่หรืองานที่ต้องบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based) และให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันจัดทำแบบประเมินข้าราชการและแบบประเมินส่วนราชการ นั้น รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้จัดประชุมหารือร่วมกับสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการบำนาญและข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูง เพื่อจัดทำแบบประเมินฯ ตามคำสั่ง และแนวปฏิบัติของนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. แบบประเมินข้าราชการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ เป็นแบบประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพในการเป็นนักบริหารของผู้รับการประเมิน โดยผู้รับการประเมิน ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนประเภทบริหารระดับสูง และผู้ประเมินมี 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ (3) เลขาธิการ ก.พ.
การประเมินข้าราชการตามแบบประเมินนี้ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ (ผู้รับการประเมินจะถูกประเมินอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ) ได้แก่
1) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจพื้นฐาน งานประจำ งานตามหน้าที่ปกติ หรืองานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎนโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรี (Function Based)
2) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์แนวทางปฏิบัติรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based)
3) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based)
4) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามที่ ก.พ. กำหนด (Competency Based)
5) ศักยภาพในการเป็นนักบริหารเพื่อการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และแผนหลักในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ (Potential Based)
ฝ่ายบริหารหรือผู้บังคับบัญชาสามารถนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการพัฒนา ปรับปรุงหรือส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้รับการประเมินมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาตรฐาน หรือสูงกว่าระดับมาตรฐาน ตลอดจนสามารถนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการระดับบริหารสู
2. แบบประเมินส่วนราชการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ เป็นแบบประเมินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดำเนินงานของส่วนราชการในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาและการอำนวยการความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพของส่วนราชการในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศโดยส่วนราชการที่รับการประเมิน ได้แก่ ส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม และผู้ประเมินคือ (1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ และ (3) เลขาธิการ ก.พ.ร.
การประเมินส่วนราชการตามแบบประเมินนี้ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ (ส่วนราชการจะถูกประเมินอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ) ได้แก่
1) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นฐานงานประจำ งานตามหน้าที่ปกติ หรืองานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก งานตามกฎหมาย กฎนโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรี (Functional Based)
2) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์แนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Agenda Based)
3) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือการบูรณาการการปฏิบัติงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based)
4) ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการระบบงาน งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และการให้บริการประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ (Innovation Based)
5) ศักยภาพในการเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามแผนหรือนโยบายระดับชาติ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล (Potential Based) โดยให้ผู้ประเมินนำผลการประเมินส่วนราชการนั้น ซึ่งประเมินโดยองค์กรภายในและภายนอกประเทศที่ได้รับความเชื่อถือมาประกอบการประเมินด้วย
ผลการประเมินส่วนราชการสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการของส่วนราชการให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล และนำไปสู่ความเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีการดำเนินงานอยู่ในระดับเหนือมาตรฐานสากลในอนาคต
3. การประเมินข้าราชการและส่วนราชการตามข้อ 1 และ 2 นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ เลขาธิการ ก.พ. (ผู้ประเมินข้าราชการ) และเลขาธิการ ก.พ.ร. (ผู้ประเมินส่วนราชการ) สามารถดำเนินการประเมินได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 โดยนำผลการปฏิบัติงานของข้าราชการหรือผลการดำเนินงานส่วนราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 มาประกอบการประเมิน ซึ่งข้าราชการและส่วนราชการผู้รับการประเมินอาจนำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานหรือผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับรูปแบบการประเมินต่อผู้ประเมินเพื่อประกอบการพิจารณาประเมิน ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ. และ เลขาธิการ ก.พ.ร. ซึ่งเป็นผู้ประเมินข้าราชการและส่วนราชการตามลำดับ สามารถประเมินโดยนำความเห็นของผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้องอื่น มาประกอบการประเมินเพื่อให้การประเมินครอบคลุมในทุกมิติได้ด้วย
4. ผู้ประเมินสามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของข้าราชการและการดำเนินงานส่วนราชการ และเพื่อให้ตรงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยนายกรัฐมนตรีอาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบประเมินฯ ตามที่เห็นสมควร
5. การประเมินข้าราชการพลเรือนระดับต่ำกว่าบริหารสูง รวมถึงข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจและการประเมินบุคลากรหรือหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ให้ผู้มีหน้าที่ประเมินกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วแต่กรณี นำแบบประเมินฯ ทั้งสองประเภทนี้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 เมษายน 2559