ขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 10 April 2016 09:32
- Hits: 1161
ขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)
2. อนุมัติให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี) และเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ (Ridership Risk) ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยเคร่งครัดต่อไป
3. อนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ในกรอบวงเงินรวมจำนวน 6,847 ล้านบาท และ 6,013 ล้านบาท ตามลำดับ โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินจริงต่อไป
4. อนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุนแก่เอกชนเป็นเงินสนับสนุนค่างานโยธาในวงเงินไม่เกิน 20,135 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และไม่เกิน 22,354 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาสัมปทาน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดเดินรถแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) และ สงป. ร่วมพิจารณาแหล่งเงินและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายเงินสนับสนุนแก่เอกชนต่อไป
5. มอบหมายให้ คค. และ รฟม. รับไปดำเนินการ ดังนี้
5.1 กำกับดูแลให้โครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน เพื่อลดความเสี่ยงด้านปริมาณผู้โดยสาร และพิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าโดยสารที่จะเป็นประโยชน์กับโครงการและสามารถช่วยลดภาระเงินสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งเร่งดำเนินการใช้ระบบตั๋วร่วมและการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมในภาพรวม ทั้งในระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น ตลอดจนเร่งรัดการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะให้สอดคล้องกับเส้นทางและระยะเวลาการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
5.2 พิจารณารูปแบบลักษณะการจ่ายเงินสนับสนุนแก่เอกชนที่สามารถส่งเสริมการประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด (KPI) ของโครงการ เพื่อให้เอกชนเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อเอกชนมีผลประกอบการเกินกว่าระดับที่ตกลงกันแล้ว ก็ควรพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดส่วนแบ่งรายได้จากผลประกอบการที่ดีขึ้นด้วย
5.3 เร่งจัดทำแผนการดำเนินโครงการในรายละเอียดให้ชัดเจนโดยเฉพาะแผนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และพิจารณาวงเงินขอรับจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เพียงพอและสอดคล้องกับขั้นตอน/ระยะเวลาการดำเนินโครงการ รวมทั้งประสานกระทรวงมหาดไทย (มท.) และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองได้มากขึ้นต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่อยู่อาศัยด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร (เขตมีนบุรี) และด้านตะวันตกเชื่อมกับเขตจังหวัดนนทบุรี ให้เดินทางได้สะดวกรวดเร็ว โดยขนส่งผู้โดยสารให้กับระบบหลัก 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟฟ้าสายสีม่วง (แผนเปิดให้บริการปี 2559) 2) รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (แผนเปิดให้บริการปี 2562) 3) รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (แผนเปิดให้บริการปี 2563) และ 4) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (แผนเปิดให้บริการปี 2565)
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่อยู่อาศัยด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถเดินทางเข้าออกใจกลางกรุงเทพมหานครได้สะดวก รวดเร็ว และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยขนส่งผู้โดยสารให้กับระบบหลัก 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) (เปิดให้บริการแล้ว) 2) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (แผนเปิดให้บริการปี 2565) 3) รถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link : ARL) (เปิดให้บริการแล้ว) และ 4) รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (แผนเปิดให้บริการปี 2563) เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพการจราจรติดขัดโดยเฉพาะบนช่วงถนนลาดพร้าวและบริเวณแยกบางกะปิและลำสาลีรวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนาแน่นสามารถเดินทางเข้าออกเมืองได้สะดวกมากขึ้น
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มีนาคม 2559