WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การดำเนินงานให้มีผลผูกพันตามการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยี สารสนเทศ (ITA Expansion)

GOVนโยบายการดำเนินงานให้มีผลผูกพันตามการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยี สารสนเทศ (ITA Expansion)

 

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบผลการเจรจาขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion) ของไทย และเห็นชอบการมีผลผูกพันตามผลการเจรจาดังกล่าว

     2. เห็นชอบการแก้ไขตารางข้อผูกพันการลดภาษีสินค้า (Schedule of Tariff Concessions) ที่ไทยมีอยู่ภายใต้ WTO เพื่อให้เป็นไปตามผลการเจรจาฯ และให้เสนอผลการเจรจาฯ และตารางข้อผูกพันการลดภาษีสินค้าดังกล่าว ไปเพื่อคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเป็นชอบต่อไป  ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์แจ้งการแก้ไขตารางข้อผูกพันดังกล่าวไปยัง WTO

     3. ให้กระทรวงการคลังดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามข้อผูกพันดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติตามกฎหมายภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559

 

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

                1. ผลการเจรจา ITA Expansion ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 10 วันที่ 16 ธันวาคม 2558 ประกอบด้วยตารางข้อผูกพันการลดภาษีสินค้า ITA Expansion ของไทย จำนวน 524 รายการ แบ่งเป็นสินค้าปกติ 435 รายการ และสินค้าอ่อนไหว 88 รายการ ทั้งนี้ มีระยะเวลาการลดภาษี 4 ระยะ คือ ลดภาษีเป็น 0 ทันที ลดภาษีเป็น 0 ภายใน 3 ปี ลดภาษีเป็น 0 ภายใน 5 ปี และลดภาษีเป็น 0 ภายใน 7 ปี โดยสินค้าอ่อนไหวไทยจะทยอยลดภาษีเป็น 0 เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมด้านสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศและเตรียมความพร้อมในการขยายฐานภาคอุตสาหกรรมในสินค้าดังกล่าวของไทยในอนาคต

     2. ผลการเจรจาดังกล่าวเป็นไปตามหลักการปรับปรุงท่าทีเจรจาที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 กล่าวคือ ลดภาษีเป็นศูนย์ทันทีสำหรับสินค้าที่มีอัตราภาษีผูกพัน (Bound rate) หรืออัตราภาษีที่เก็บจริง (MFN Applied Rate) เป็นศูนย์อยู่แล้ว และปรับลดระยะเวลาการลดภาษีสินค้าอ่อนไหวลงเหลือไม่เกิน 5 ปี ยกเว้นรายการที่ไทยมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลจากการหารือกับภาคเอกชนให้มีระยะเวลาในการลดภาษีไม่เกิน 7 ปี

     3. ตารางข้อผูกพันการลดภาษีสินค้า ITA Expansion ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศโดยรวมของประเทศ โดยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยในตลาดสินค้า IT รวมทั้งจะดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติ อันจะสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายด้านสินค้า IT ของไทย ประกอบกับจะเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 คลัสเตอร์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 โดยเป็นการต่อยอด 1 อุตสาหกรรมเดิม (First S-curve) คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต (New  S – curve) 1 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล  และสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีด้าน 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อ 6.18 โดยเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้

      4. เพื่อให้ผลการเจรจาดังกล่าวมีผลผูกพันทางกฎหมาย ประเทศสมาชิกความตกลง ITA Expansion ได้ตกลงที่จะดำเนินกระบวนการภายในประเทศ เพื่อแก้ไขตารางข้อผูกพัน (Schedule of Tariff Concessions) ภายใต้ WTO เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติตามกฎหมายภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นว่า การขยายขอบเขตของรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศตามความตกลง ITA Expansion ที่ประเทศสมาชิกต้องยกเลิกภาษีและลดค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่กัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้าเสรี ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก้สมาชิกให้ต้องปฏิบัติและมีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกัน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา 23 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

       ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2559

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!