ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการ ASEAN–German Programme
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 22 February 2016 19:59
- Hits: 1561
ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการ ASEAN–German Programme
เรื่อง ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการ ASEAN–German Programme on Response to Climate Change in Agriculture and Forestry (GAP-CC), Module II: Forestry and Climate Change (FOR-CC)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับที่ ได้แก่
(1) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนถึงสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Exchange of Notes) และ
(2) ร่างความตกลงเพื่อการดำเนินการโครงการ ASEAN–German Programme on Response to Climate Change in Agriculture and Forestry (GAP-CC), Module II: Forestry and Climate Change (FOR-CC)
2. อนุมัติให้เลขาธิการอาเซียน (Secretary – General of ASEAN) ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ และรองเลขาธิการอาเซียน (Deputy Secretary–General of ASEAN) ลงนามในร่างหนังสือความตกลงเพื่อดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าวข้างต้น
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ว่า รัฐบาลไทยเห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ และให้เลขาธิการอาเซียนและรองเลขาธิการอาเซียนลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น ตามลำดับ
สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ สรุปได้ ดังนี้
1. โครงการ FOR–CC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาเซียนมีการพัฒนาความร่วมมือและการจัดท่าทีร่วมกันในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรและป่าไม้ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ
1.1 ความร่วมมือด้านป่าไม้ของอาเซียน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือหลายสาขาของอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การเกษตรและป่าไม้สู่ความมั่นคงทางอาหาร (ASEAN Multi–sectoral Framework on Climate Change – AFCC) และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ทางอาหาร การเกษตร และป่าไม้ (Food Agriculture and Forestry Vision FAF 2559-2563) และกลยุทธ์เป็นรายสาขา
1.2 ด้านห่วงโซ่ในการผลิตอาหารที่มีศักยภาพในการรองรับผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นด้านการขยายการลงทุนจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคนิคในทุกจุดของห่วงโซ่ด้านการเกษตรและป่าไม้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับตัว และบรรเทาผลกระทบ โดยเน้นยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนอาเซียนในการบรรลุวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเกษตร และการป่าไม้ ตามที่กรอบความร่วมมือที่มีการตกลงกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว เช่น กรอบนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารแบบบูรณาการ (ASEAN Integrated Food Security Framework – AIFS) กรอบความร่วมมืออาเซียนสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: เกษตรและป่าไม้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร (ASEAN Framework on Climate Change : Agriculture and Forestry towards Food Security – AFCC) และความคิดริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Climate Change Initiative – ACCI) โดยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและการเกษตรที่ดีเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะสนับสนุนงบประมาณให้กับ GIZ เป็นเงินจำนวน 4,800,000 ยูโร ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการของ GIZ รวมถึงการจัดหาบุคลากรซึ่งจะปฏิบัติงานประจำอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ GIZ จะให้การสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ให้กับโครงการการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิชาการให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนและการสนับสนุนด้านข้อมูลและการจัดการองค์ความรู้ในระดับภูมิภาคเพื่อให้การดำเนินการของโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์
3. สำนักเลขาธิการอาเซียนจะสนับสนุนในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่เกี่ยวข้องและการจัดหาอาคารและสถานที่ทำงาน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559