การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. 2025 : มุ่งหน้าไปด้วยกันและวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 25 October 2015 08:32
- Hits: 25078
การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. 2025 : มุ่งหน้าไปด้วยกันและวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. 2025 : มุ่งหน้าไปด้วยกัน และวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีประสานงานอาเซียน(ASEAN Coordinating Council : ACC) มีหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ ฯ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฯ และแผนงานประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาไปยังมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ตามที่มาเลเซียกำหนด
3. ให้นายกรัฐมนตรีร่วมลงนามในปฏิญญาฯ เพื่อรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฯ รวมทั้งแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ฯ และวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ฯ ระบุว่า ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และแผนงานประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 21 - 22 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
2. ร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฯ ระบุภาพรวมของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้าที่จะต้องมีการรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยประชาคมอาเซียนจะต้องเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา มองไปข้างหน้า (forward – looking) และภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประชาคม อีกทั้งความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนจะต้องสอดคล้องกับวาระด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ตามที่ปรากฏในเอกสาร “2030 Agenda for Sustainable development” ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
2.1 ความสำเร็จในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยอ้างอิงเอกสารที่เป็นรากฐานสำคัญของอาเซียน
2.2 วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า
2.3 การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรต่างๆ ของอาเซียน โดยเฉพาะสำนักเลขาธิการอาเซียน และการสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ของอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนให้มากขึ้น
3. การร่วมลงนามในร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ฯ เพื่อรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฯ และแผนงานประชาคมอาเซียนทั้ง 3 ฉบับ จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสันติภาพความมั่นคง ความมั่นคั่ง และยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนของอาเซียนและไทยอยู่ดีมีสุข
4. ร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ฯ และวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีบริบทที่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2558