มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 18 October 2015 20:47
- Hits: 2661
มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของมาตรการการเงินเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง และมาตรการการคลังเพื่อลดภาระให้กับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์
2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยรวม 3 ฉบับ ดังนี้
2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
2.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
2.3 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุดตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
3. มอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประสานงานกับผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหาแนวทางในการลดภาระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนและค่าธรรมเนียมการโอนให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยตามมาตรการนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. มาตรการการเงิน
มีหลักการเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ให้สามารถกู้เงินจาก ธอส. โดยเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเฉพาะเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้กู้กลุ่มนี้รวมทั้งผู้ที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และยังช่วยกระตุ้นตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดและเพื่อปลูกสร้างอาคารหรือเพื่อซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร โดย ธอส. จะกำหนดวงเงินให้กู้ต่อราย อัตราดอกเบี้ยและเงินที่ชำระหนี้ในแต่ละงวดที่ผ่อนปรน เพื่อช่วยให้กลุ่มเป้าหมายได้รับสินเชื่อมากขึ้นเพียงพอที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยให้ ธอส.
อย่างไรก็ดี ธอส. ขอให้ไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan : NPL) ที่เกิดจากการดำเนินโครงการตามมาตรการนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และขอผ่อนผันตัวชี้วัดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 1.5 ล้านบาทต่อราย ตามเกณฑ์ของสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ ทั้งนี้ มีวงเงินโครงการประมาณ 10,000 บาท และ ธอส. สามารถเพิ่มวงเงินได้ตามความเหมาะสม และมีกำหนดระยะเวลารับคำขอและการดำเนินการ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 และให้ ธอส. สามารถขยายระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม โดยมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 30 ปี
1. มาตรการการคลัง มี 2 มาตรการ ดังนี้
2.1 กำหนดมาตรการเพื่อเป็นการลดภาระให้กับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย) โดยกำหนดเป็นร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
2.1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง (0.01) สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และอาคารพาณิชย์ และมิใช่ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินหรือที่ดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย
2.1.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง (0.01) สำหรับกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นที่ดิน อาคาร หรืออาคารพร้อมที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรร หรือที่ดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยทางราชการหรือองค์การของรัฐบาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย
(2) เป็นอาคารประเภทดังต่อไปนี้ (ก) บ้านเดี่ยว (ข) บ้านแฝด (ค) บ้านแถว (ง) อาคารพาณิชย์
2.1.3 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุดตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง (0.01) สำหรับกรณีการซื้อขายห้องชุด การโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดทั้งหมดหรือห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ทั้งนี้ ร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับ ให้มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในร่างประกาศดังกล่าว
2.2 เพื่อเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง) สำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
(1) ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ โดยให้แบ่งใช้สิทธิเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี
(2) ต้องจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559
(3) มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์
(4) ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน
(5) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการออกกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2558