บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 11 October 2015 10:10
- Hits: 2481
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ
เรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญให้ รง. สามารถดำเนินการได้
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว (ตามข้อ 1)
3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ สรุปได้ ดังนี้
1. ให้กรมการจัดหางานในฐานะหน่วยงานผู้ส่งรับผิดชอบในการรับสมัครและจัดส่งคนงาน และกำหนดให้ HRD Korea ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการจ้างงานและแรงงานสาธารณรัฐเกาหลีในฐานะหน่วยงานผู้รับมีอำนาจในการจัดการบัญชีรายชื่อคนงานและรับคนงาน
2. คนงานจ่ายค่าใช้จ่ายในการสมัครและจัดส่งโดยกรมการจัดหางานต้องแจ้งข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเงินค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากคนหางานแก่กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสาธารณรัฐเกาหลี
3. มีการสอบความสามารถภาษาเกาหลี (EPS – Test of Proficiency in Korean : EPS-TOPIK) เพื่อคัดเลือกคนหางาน และกรณีที่จำเป็นอาจมีการทดสอบทักษะฝีมือ (skill test) เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่นายจ้าง
4. ผู้ที่สอบผ่าน EPS-TOPIK ต้องยื่นใบสมัครไปทำงานและกรมการจัดหางานต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สอบได้ส่งให้ HRD Korea เพื่อให้นายจ้างคัดเลือก โดยบัญชีรายชื่อมีอายุ 1 ปี เมื่อสิ้นอายุ คนหางานสามารถลงทะเบียนเพื่อไปทำงานได้ใหม่ภายในระยะเวลาที่ผลสอบ EPS-TOPIK ยังมีอายุ (2 ปี)
5. กรมการจัดหางานดำเนินให้ความรู้ก่อนเดินทางแก่คนหางานที่ลงนามสัญญาจ้างงานแล้ว โดยอาจดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้องค์กรสาธารณะที่มีภารกิจเกี่ยวกับการให้การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ และหากพบว่าคนงานที่เดินทางไปทำงานไม่ได้อบรมหรือได้รับการอบรมจากหน่วยงานที่ไม่ได้รับอนุญาต กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสาธารณรัฐเกาหลีสามารถส่งคนงานนั้นกลับได้และดำเนินมาตรการที่จำเป็น
6. กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสาธารณรัฐเกาหลีจะให้การอบรมเมื่อเดินทางถึงและตรวจสุขภาพคนงานก่อนเข้าทำงานกับนายจ้าง คนงานที่ตรวจโรคไม่ผ่านจะถูกส่งกลับ
7. กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสาธารณรัฐเกาหลีจะดำเนินมาตรการที่จำเป็น เช่น ลดจำนวนโควตาที่จัดสรรให้หรือระงับการจัดส่งคนงานเป็นการชั่วคราวหากจำนวนคนงานที่ได้รับอนุมัติการตรวจลงตราบนหนังสือเดินทาง (Certificate of Confirmation for Visa Issuance : CCVI) แล้ว ไม่เดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลีด้วยเหตุผลส่วนตัวมีจำนวนเกินกว่าร้อยละที่กำหนด
8. คนงานสามารถทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีได้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่เดินทางเข้าประเทศ และอาจได้รับการขยายการจ้างงาน จำนวน 1 ครั้ง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 10 เดือน ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฎหมายการจ้างงานแรงงานต่างชาติของสาธารณรัฐเกาหลี
9. คนงานที่สมัครใจเดินทางกลับประเทศเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างงานสามารถเดินทางกลับไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีได้อีกครั้งเมื่อออกจากประเทศไปแล้ว 6 เดือน แต่คนงานที่ไม่ได้เปลี่ยนนายจ้างตลอดระยะเวลาการจ้างงานจะสามารถเดินทางกลับไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีได้อีกครั้งเมื่อออกจากประเทศไปแล้ว 3 เดือน และได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบความสามารถภาษาเกาหลี การอบรมก่อนเดินทางและการอบรมเมื่อเดินทางไปถึงสาธารณรัฐเกาหลี
10. ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและประสิทธิภาพในกระบวนการจัดส่งและรับ และ รง. จะส่งเสริมให้คนงานเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจและนำเสนอแผนงานพร้อมเป้าหมายรายไตรมาสให้แก่กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อจัดการกับอัตราการพำนักอาศัยอย่างผิดกฎหมายของคนงานที่ได้รับการจ้างงานใหม่ภายหลังครบระยะเวลา 3 ปี และสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างงาน
11. บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ในวันที่ลงนามของทั้งสองฝ่าย และจะยังคงมีผลบังคับระหว่างที่มีการดำเนินการเพื่อต่ออายุ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้มีการสิ้นสุดอายุเป็นลายลักษณ์อักษร
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2558