ข้อเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 October 2015 07:27
- Hits: 1780
ข้อเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้าง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้ กอช. เป็นกลไกหลักในลักษณะ Super Board เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558
2. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ดำเนินการปรับแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ กอช. และเร่งดำเนินการกำหนดอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยเร็ว
สาระสำคัญของเรื่อง
ข้อเสนอกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ที่มุ่งให้เกิดกลไกที่มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ ลดปัญหาการซ้ำซ้อนของการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยคณะกรรมการต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและมีการบูรณาการ สศช. จึงเสนอให้ใช้กลไก “คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.)” เป็นกลไกหลักในลักษณะ Super Board เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ เนื่องจาก กอช. อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลและผู้บริหารสูงสุดของประเทศเป็นประธาน และองค์ประกอบกรรมการฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศครบถ้วนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตามควรมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ กอช. เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีเอกภาพในการดำเนินงานมากขึ้น ดังนี้
1. การปรับปรุงองค์ประกอบของ กอช. สรุปได้ดังนี้ ประธานกรรมการ นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รองประธานกรรมการรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจกรรม การรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ปรับ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เพิ่มเติม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (เพิ่มเติม)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 3 คน กรรมการและเลขานุการ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ปรับ) กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ปรับ)
2. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กอช. ให้เป็นกลไกเชิงนโยบาย (Policy Board) ที่มีบทบาทในการชี้นำทิศทางและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้น จากเดิมที่มีลักษณะเป็นกลไกประสานงานการพัฒนา ดังนี้
1) กำหนดทิศทางนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ รวมทั้งกำหนดอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดบูรณาการอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2) ขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบาย แผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่กำหนด รวมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
3) ส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต ด้วยการสร้างและประยุกต์ใช้งานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
4) ส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงกำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
5) ประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งในระดับภาพรวมของประเทศ และรายสาขาอุตสาหกรรมที่ศักยภาพที่กำหนด รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้คณะรัฐมนตรีทราบ
6) ออกระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามระเบียบนี้ หรือตามที่ กอช. มอบหมาย
8) ขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผู้แทนมาชี้แจง ส่งเอกสาร ให้ข้อมูลสถิติ หรือให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของ กอช. ได้ตามความจำเป็น
9) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กันยายน 2558