ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกรณีไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 September 2015 21:26
- Hits: 1658
ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกรณีไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกรณีไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Kuala Lumpur Declaration on Irregular Movement of Persons In Southeast Asia) และร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2558 (2015 Kuala Lumpur Declaration on Combating Transnational Crime)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกรณีไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Kuala Lumpur Declaration on Irregular Movement of Persons In Southeast Asia) และร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2558 (2015 Kuala Lumpur Declaration on Combating Transnational Crime) เพื่อจะได้นำร่างแถลงการณ์ทั้งสองร่างดังกล่าว เข้าในวาระการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 10 (10th ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2558
2. อนุมัติให้ ตช. สามารถดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างแถลงการณ์ฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญได้ (หากมีความจำเป็น) โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกรณีไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2558 มีดังนี้
1. สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกรณีไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดังนี้
1.1 เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกรณีไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกลุ่มผู้อพยพที่เป็นเป้าหมาย คือ ชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศนำไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้กรอบการประชุมหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป
1.2 พิจารณาให้การลักลอบขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมข้ามชาติ โดยอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ
1.3 เน้นการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และความผิดการลักลอบขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบอื่นด้วย ทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติผ่านทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรอง ตลอดจนการก่อตั้งหน่วยสืบสวนสอบสวนพิเศษที่เหมาะสม
1.4 นำสนธิสัญญาในเรื่องความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
1.5 สามารถวิเคราะห์และศึกษาถึงการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบอื่น ๆ พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว
1.6 เน้นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
1.7 เสริมสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายการแบ่งปันข้อมูลและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยนข่าวกรองกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
1.8 สนับสนุนการก่อตั้งกองทุน Trust Fund ที่อยู่ในความดูแลของสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจะมาจากอาสาสมัครของประเทศสมาชิกอาเซียนต่าง ๆ และสมาชิกอื่น ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนด้านมนุษยธรรม และความพยายามที่จะจัดการกับการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1.9 ให้คำแนะนำแก่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้งหน่วยงานปฏิบัติภารกิจพิเศษในการตอบโต้วิกฤตการณ์และสถานการณ์เร่งด่วนที่เกิดจากการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
1.10 สนับสนุนที่จะให้มีการรับรองร่างอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียน [The ASEAN Convention against Trafficking in Persons especially Women and Children – (ACTIP)] และร่างแผนปฏิบัติการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ในภูมิภาค [The ASEAN Plan of Action against Trafficking in Persons especially Women and Children – (RPA)] ในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (AMMTC) ในเดือนกันยายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
2. สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2558 มีดังนี้
2.1 ตระหนักถึงความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งในเรื่องการก่อการร้ายและกลุ่มนิยมความรุนแรงโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ รวมไปถึงการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การค้ามนุษย์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอาชญากรรมข้ามชาติที่จะเกิดขึ้นใหม่
2.2 เพื่อประสิทธิภาพในแผนการต่อต้านการก่อการร้าย (ACPoA on CT) และแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ
2.3 ให้การสนับสนุนร่างอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียน (ACTIP) ร่างแผนปฏิบัติการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ในภูมิภาค (ARP)
2.4 สนับสนุนการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด การประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหม การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมาย และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เพื่อการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2558