WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การรับรองร่างเอกสารผลการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015

GOV6การรับรองร่างเอกสารผลการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015

   

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้คณะผู้แทนไทยซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะร่วมรับรองเอกสาร “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development”

2. ให้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับ การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกลไกหลักในระดับประเทศในการขับเคลื่อนให้หน่วยงานไทยนำวาระการพัฒนา 2030 ไปปฏิบัติ ติดตามผลการดำเนินงานรวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ภายหลังจากที่ได้มีการรับรองเอกสารผลการประชุมฯ แล้ว

 

สาระสำคัญของร่างเอกสาร “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development” มีรายละเอียด ดังนี้

  1. วัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และเน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น 3 เสาหลัก ของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกไม่ได้

2. ร่างเอกสารประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่

2.1 อารัมภบท (Preamble) เป็นการสื่อสารวาระการพัฒนา 2030 กับประชาชนอย่างสั้นและกระชับ โดยกล่าวถึงการขจัดความยากจนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลักการ 5 Ps ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

2.2 ปฏิญญา (Declaration) กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของวาระการพัฒนา 2030 และแสดงความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

2.3 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าประสงค์ (Sustainable Development Goals and Targets – SDGs & Targets) ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมาย(goals) 17 ข้อ และเป้าประสงค์ (targets) 169 ข้อ ครอบคลุม 3 เสาหลัก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.4 กลไกการดำเนินงาน (Means of Implementation – Mol) และหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) เน้นความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยครอบคลุมการระดมทุนจากภาครัฐภายในประเทศ การระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance – ODA) การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

2.5 การติดตามและทบทวนผล (Follow-up and review) เน้นการติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความท้าทาย และช่องว่างในการดำเนินงานอย่างครอบคลุมเป็นประจำในทุกระดับ (ก) ระดับชาติ โดยส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือทางนโยบายที่มีอยู่แล้ว อาทิ แผนพัฒนาแห่งชาติ รวมถึงการติดตามผลในระดับท้องถิ่นด้วย (ข) ระดับภูมิภาค โดยให้ประเทศในภูมิภาคหารือร่วมกันและระบุถึงกลไกที่เหมาะสม โดยอาจใช้กลไกที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค และ (ค) ระดับโลก โดยใช้เวทีการหารือทางการเมืองระดับสูง (High-Level Political Forum – HLFP) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมในกรอบสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวทีหลักซึ่งมีการประชุมทุกปี และจะมีการประชุมติดตามและทบทวนผลระดับโลกในระดับผู้นำครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 นอกจากนี้เอกสารฯ เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของระบบการจัดเก็บสถิติในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

     ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!