รู้จัก 'บัณฑูร-บรรยง-ประสาร-รพี-วิรไท-ทวีศักดิ์'มันสมองในซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 28 June 2014 18:29
- Hits: 7791
รู้จัก 'บัณฑูร-บรรยง-ประสาร-รพี-วิรไท-ทวีศักดิ์'มันสมองในซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ
บัณฑูร |
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งซุปเปอร์บอร์ดดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวม ในรายชื่อกรรมการที่ถูกแต่งตั้ง มีผู้บริหารภาคเอกชนและเทคโนแครตระดับหัวกะทิจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ มติชนออนไลน์ ประมวลประวัติบุคคลเหล่านั้นมานำเสนอ ดังนี้
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย
นายบัณฑูร ล่ำซำ หรือ ปั้น เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2496 ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ ตระกูลเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีน ที่เข้ามาเมืองไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาเป็นบุตรของนายบัญชา ล่ำซำ และท่านผู้หญิงสำอางวรรณ ล่ำซำ ซึ่งสืบเชื้อสายจากราชสกุล เทวกุล ทั้งยังเป็นพี่สาวต่างมารดาของหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อีกด้วย
นายบัณฑูร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท บริหารธุรกิจ จาก ฮาร์วาร์ด บิสิเนส สคูล ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยดำรงตำแหน่งร้อยตรี ประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี พ.ศ. 2520 พนักงานฝ่ายต่างประเทศธนาคารกสิกรไทย พนักงานประสานงานจัดระบบคอมพิวเตอร์ และกรรมการผู้จัดการ กระทั่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ประธานกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ด้านการเป็นซีอีโอใหญ่ทางเศรษฐกิจ นายบัณฑูรเป็นผู้ริเริ่มนำคำว่ารื้อปรับระบบองค์กร (reengineering) มาใช้ในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีบทบาทในด้านการผลักดันการปฏิรูปการเมืองเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจ นายบัณฑูรเคยกล่าวว่า ปัจจัยหลักที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจไทยอยู่รอดได้คือระบบการเมืองของประเทศ รวมถึงโครงสร้างของระบบรัฐสภาและกฎหมาย ทั้งนี้หากไม่เร่งปรับปรุงปฏิรูปสถาบันการเมืองให้มีเสถียรภาพจะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
นอกจาก บทบาททางด้านเศรษฐกิจแล้ว ระยะหลัง นายบัณฑูร ยังลุกขึ้นมาจับปากกาเขียนนิยายรักกลิ่นอายเหนือ ที่มีชื่อว่า “สิเนหามนตาแห่งลานนา” เนื่องจากความหลงไหลในเมืองน่าน และได้ซื้อโรงแรมน่านฟ้า (และเปลี่ยนชื่อเป็น "พูคาน่านฟ้า") ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองน่านไว้อีกด้วย
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน
นายบรรยง เคยเป็นอดีตกรรมการอิสระและกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2552 - 2554 และยังเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ อาทิ ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ บริษัท ดิเอราวัณกรุ๊ป จำกัด กรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) และการดำรงตำแหน่งในกิจการอื่น ได้แก่ กรรมการ บริษัท สคเวอเร็ล จำกัด (ประเทศไทย) กรรมการ บริษัท บวรพาณิชย์ จำกัด กรรมการ บริษัท เซลเลนเนียม จำกัด (ประเทศไทย) กรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย กระทรวงการคลัง อนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย กระทรวงการคลัง
นายบรรยงประกอบอาชีพในตลาดทุนไทยมา 35 ปี มีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยเห็นว่ามีมายาคติในสังคมไทย เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการคอร์รัปชั่น ที่คนไทยส่วนใหญ่มักเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ และเชื่อว่าการทุจริตสามารถสร้างประโยชน์ได้ แต่นายบรรยง มองว่าไม่ใช่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยในระยะสั้น
นายบรรยงเคยเสนอแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชั่น ไว้ดังนี้ 1.การเปลี่ยนทัศนคติของสังคม 2.การกระจายอำนาจรัฐ เพื่อขจัดเงื่อนไข “ได้กระจุก-เสียกระจาย” 3.ขจัดเงื่อนไขที่เอื้อให้มีการทุจริต 4.การเพิ่มความโปร่งใสภาครัฐ 5.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สมบูรณ์ 6.การเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจยิ่งขึ้น 7.การส่งเสริมองค์การภาคประชาชน 8.การร่วมมือกับนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ
สำหรับคุณวุฒิด้านการศึกษา นายบรรยงจบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน
ดร.ประสาร จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2519 ในช่วงเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516 นายประสารดำรงตำแหน่งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และต่อมาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
นายประสารเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย และเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษา คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย (TBA) ทำให้มีประสบการณ์ครอบคลุมอย่างกว้างขวางในธุรกิจธนาคารและตลาดการเงิน
เมื่อเดือนกันยายน 2554 นายประสารได้รับรางวัล Central Bank Governor of the Year for Asia ประจำปี 2554 จากวารสาร Emerging Markets ในเครือ Euromoney Group ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553
นายรพี สุจริตกุล กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และที่ปรึกษาหลายบริษัท อาทิ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด กรรมการอิสระ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ที่ปรึกษา สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
นายรพี จบการศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมาย (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยเอสเซ็กส์ ประเทศอังกฤษ (ทุนการศึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย) และปริญญาโทด้านกฎหมายเช่นกัน จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ (ทุนการศึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย) จากนั้นกลับมาเป็นนิติกรที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
จากนั้น นายรพีเคยเป็นผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย โดยได้รับการทาบทามให้มารับตำแหน่งจาก ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ซึ่งเคยร่วมงานกันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ และอดีตรองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท เป็นบุตรของ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ ส.ว.กทม. จบการศึกษาปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และได้ทุนเรียนต่อถึงปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
นายวิรไทเริ่มทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2540 จึงกลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีบทบาทสำคัญในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินในสมัยนั้น นอกจากนี้ ยังเคยทำงานระดับบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ จากัด (มหาชน) และล่าสุด เพิ่งหยุดพักจากงานประจำที่ครบวาระ 4 ปี ในตำแหน่งรองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบัน ดร.วิรไท เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนบางแห่งและทีดีอาร์ไอ นอกจากนี้ ก็ทำงานเพื่อสังคมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิอานันทมหิดล หอจดหมายเหตุพุทธทาส เป็นกรรมการให้แอร์เอเชียฟาวน์เดชั่น ที่มาเลเซีย และเป็นกรรมการกำกับดูแลกิจการขององค์การอนามัยโลก ที่กรุงเจนีวา
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
นายทวีศักดิ์ จบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน และปริญญาเอกด้านการสื่อสารดิจิทัล วิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน เช่นกัน
ดร.ทวีศักดิ์รับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอาจารย์ประจำสาขาบริหารอุตสาหการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควบกับการดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2526
ในปี พ.ศ.2537 นายทวีศักดิ์รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดูแลในส่วนงานพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2539 จนครบวาระ 2 สมัย (8 ปี)
ในปี พ.ศ. 2549 ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ สวทช. ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ดร.ทวีศักดิ์ถือเป็นระดับหัวกะทิด้านไอทีของไทย จากผลงานมากมาย อาทิ วิจัยและพัฒนาระบบภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ ก่อตั้งเครือข่ายไทยสาร โครงการสคูลเน็ต เครือข่ายกาญจนาภิเษก เครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ หรือ GINET การกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์ ปี ค.ศ. 2000 การยกร่างและผลักดันนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ หรือ IT 2010 การทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2545-2549) การผลักดันกฎหมายไอซีทีที่สำคัญต่อประเทศหลายฉบับ และการทำงานร่วมกับ สำนักงาน ก.พ. เพื่อก่อตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นอกจากนี้ ดร. ทวีศักดิ์ยังเคยเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางคอมพิวเตอร์ เป็นรองประธานกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งออกมาเป็น พ.ร.บ.ในปี พ.ศ.2550
|