สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี 8 กันยายน 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 13 September 2015 21:44
- Hits: 15286
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี 8 กันยายน 2558
วันนี้ (8 กันยายน 2558) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1
ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างกฎหมายกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท จำนวน 147 ฉบับ พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ – สังคม
4. เรื่อง กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก
5. เรื่อง การเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมือง ปี 2556 – 2557
6. เรื่อง ภาวะสังคมไตรมาสที่สองของปี 2558
7. เรื่อง การเสนอหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และคู่มือการดำเนินงานตามาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
8. เรื่อง มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน
ต่างประเทศ
9. เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำและลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการก่อสร้างสะพาน มิตรภาพ ไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2
10. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่ม แม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 และร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
11. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66
แต่งตั้ง
12. เรื่อง การแต่งข้าราชการการเมือง(กระทรวงพาณิชย์)
13. เรื่อง การแต่งตั้งรองประธานกรรมการในคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า
14. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
16. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
17. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
18. เรื่อง การรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
19. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
20. เรื่อง ผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กระทรวงการต่างประเทศ)
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน)
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
24. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
26. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงพาณิชย์)
30. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของกระทรวงการคลัง
31. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
32. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิและขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการพ้นจากราชการเพราะครบเกษียณอายุราชการ (กระทรวงมหาดไทย)
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
36. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 1 กระทรวงมหาดไทย)
37. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
40. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
41. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
42. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
43. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของเลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ)
44. เรื่อง ขอรับโอนข้าราชการ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
45. เรื่อง การรับโอนข้าราชการมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนัก นายกรัฐมนตรี (สำนักนายกรัฐมนตรี)
46. เรื่อง คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2558 เรื่อง ให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิม (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
47. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 234/2558 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รอง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตาม กฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. วัตถุประสงค์ของ สทอภ.
1.1 แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ สทอภ. ในการศึกษาวิเคราะห์และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศและข้อมูลจากแหล่งสำรวจอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม รวมถึงการให้บริการ ให้คำปรึกษา และพัฒนาบุคลากรในด้านเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจข้อมูลจากระยะไกลด้วยระบบภูมิสารสนเทศเพื่อให้ครอบคลุมภารกิจของ สทอภ.
1.2 แก้ไขเพิ่มเติมขอบเขตการให้บริการข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของ สทอภ. ให้หมายความรวมถึงการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่องกับ หรือสนับสนุนการให้บริการข้อมูลฯ เพื่อให้ สทอภ. สามารถให้บริการอุปกรณ์เครื่องมือ หรือการให้บริการอื่น ๆ แก่ผู้ขอรับบริการ และทำให้ผู้ขอรับบริการสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลได้ทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงความสามารถในการให้บริการด้านการสำรวจ รังวัด การออกแบบวางผังพื้นที่ การจัดทำแผนที่ต่าง ๆ
1.3 แก้ไขเพิ่มเติมความสามารถในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาและดำเนินการอื่นใด ที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับเทคโนโลยีอวกาศให้ครอบคลุมภูมิสารสนเทศในทุกภารกิจของ สทอภ. รวมทั้งการไม่จำกัดลักษณะหรือขนาดของดาวเทียมที่พัฒนาขึ้น
1.4 แก้ไขเพิ่มเติมบทบาทในการตรวจสอบมาตรฐานกลางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงส่งเสริมการใช้งานมาตรฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศโดยรวมใน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
2. อำนาจหน้าที่กระทำกิจการของ สทอภ.
2.1 แก้ไขเพิ่มเติมความสามารถในการทำนิติกรรมของ สทอภ. เพื่อให้ สทอภ. สามารถดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการให้บริการข้อมูลฯ ทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 แก้ไขเพิ่มเติมความสามารถในการเข้าร่วมทุน การร่วมลงทุนร่วมกิจการ ดำเนินงานร่วมกับนิติบุคคลอื่น หรือจัดตั้งนิติบุคคลอื่นได้ รวมทั้งการเข้าถือหุ้นกับนิติบุคคลอื่น เพื่อสนับสนุนให้ สทอภ. สามารถดำเนินกิจการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างกว้างขวางและตอบสนองนโยบายการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในด้านการเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างเสรี และเป็นการเสริมสร้างการลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ สทอภ. ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดให้ลงทุนตามกรอบประชาคมอาเซียน
3. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร สทอภ. ในการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง สทอภ. โดยระบุให้คณะกรรมการบริหาร สทอภ. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างรวมถึงการจัดสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจากสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานจัดให้ตามปกติ โดยใช้ทุนและทรัพย์สินของสำนักงาน โดยถือว่าเป็นการใช้จ่ายเงินไปเพื่อกิจการของสำนักงานตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. เรื่อง ร่างกฎหมายกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือ บางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
มท. เสนอว่า
1. เดิมได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยน การใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 3 เมษายน 2556 มีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2556 โดยจะครบกำหนดในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ประกอบกับเมื่อยังไม่ได้ดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปีดังกล่าว จึงมีผลทำให้ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเป็นอันยกเลิก ทั้งนี้ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ. 2522
2. แต่โดยที่ มท. พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่บางส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น สมควรกำหนดเป็นบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทต่อไป เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการควบคุมความหนาแน่นของอาคาร จึงสมควรกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว และจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้การคำนวณพื้นที่ใช้สอยอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่ง ให้คำนวณเฉพาะพื้นที่อาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบกิจการพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งเท่านั้น
2. กำหนดให้ท้องที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรม ประเภทค้าปลีก ค้าส่ง ที่มีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมกันเพื่อประกอบกิจการในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป เว้นแต่พื้นที่บริเวณตามกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่ตำบลหนองหาร ตำบลป่าไผ่ ตำบลสันทรายหลวง ตำบลหนองจ๊อม ตำบลสันนาเม็ง ตำบลสันทรายน้อย ตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย ตำบลเหมืองแก้ว ตำบลริมใต้ ตำบลแม่สา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลสันผีเสื้อ ตำบลป่าตัน ตำบลช้างเผือก ตำบลฟ้าฮ่าม ตำบลสุเทพ ตำบลหนองป่าครั่ง ตำบลศรีภูมิ ตำบลช้างม่อย ตำบลวัดเกต ตำบลพระสิงห์ ตำบลช้างคลาน ตำบลท่าศาลา ตำบลหายยา ตำบลหนองหอย ตำบลป่าแดด ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ต ตำบลสันกลาง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง ตำบลไชยสถาน ตำบลท่าวังตาล ตำบลหนองผึ้ง ตำบลป่าบง ตำบลยางเนิ้ง ตำบลชมพู ตำบลดอนแก้ว ตำบลหนองแฝก ตำบลสารภี ตำบลขัวมุง ตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี ตำบลหนองควาย ตำบลน้ำแพร่ ตำบลสันผักหวาน ตำบลบ้านแหวน ตำบลสบแม่ข่า ตำบลขุนคง ตำบลหางดง และตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2547
3. กำหนดให้ภายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ห้ามบุคคลใดดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารใด ๆ ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 2
4. กำหนดให้อาคารที่มีอยู่แล้วในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดตามข้อ 2 ก่อน หรือในวันที่กฎกระทรวงนี้ ใช้บังคับให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่ห้ามดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารดังกล่าว ให้เป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 2
5. กำหนดให้อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการนั้น ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารไม่แล้วเสร็จ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ แต่จะขอเปลี่ยนแปลงการอนุญาตหรือการแจ้งให้เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงนี้ไม่ได้
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท จำนวน 147 ฉบับ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท จำนวน 147 ฉบับ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
มท. เสนอว่า ได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท จำนวน 147 ฉบับ แต่กฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการคิดคำนวณพื้นที่ใช้สอยอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งไว้ ทำให้เกิดปัญหาในการคิดคำนวณพื้นที่ใช้สอยอาคาร ประกอบกับปัจจุบันได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยมีข้อกำหนดเรื่องการคิดคำนวณพื้นที่ใช้สอยอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว จึงสมควรกำหนดเรื่องการคิดคำนวณพื้นที่ใช้สอยอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งในกฎกระทรวง จำนวน 147 ฉบับดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการออกกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในปัจจุบัน ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมอาหารได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เพิ่มการคำนวณพื้นที่ใช้สอยอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่ง โดยให้คำนวณเฉพาะพื้นที่อาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบกิจการพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งเท่านั้น ไม่ต้องนำพื้นที่เก็บสินค้า พื้นที่สำนักงาน และพื้นที่ส่วนอื่นที่อยู่ภายในอาคารมารวมคำนวณในกฎกระทรวงตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท จำนวน 147 ฉบับ
เศรษฐกิจ – สังคม
4. เรื่อง กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรกตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค.รายงานว่า
1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 กำหนดระยะเวลาตามโครงการรถยนต์ คันแรกไว้ชัดเจนตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ซึ่งผู้ขอใช้สิทธิ์จะต้องยื่นคำขอใช้สิทธิ์พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบให้ครบถ้วนในระยะเวลาดังกล่าว แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ขยายระยะเวลาการยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมโดยให้ยื่นภายใน 90 วัน นับจากวันถัดจากวันรับมอบรถยนต์ แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการรับมอบรถยนต์ที่จะขอใช้สิทธิตามโครงการฯ นี้ไว้ ทำให้โครงการดังกล่าวไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดในการับมอบรถยนต์ รวมถึงการยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งผลการดำเนินงานตามโครงการรถยนต์คันแรก มีผู้ขอใช้สิทธิ์จำนวน 1,259,113 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 92,812 ล้านบาท โดยผู้ที่อยู่ในสถานะขอใช้สิทธิในปัจจุบัน จำนวน 1,234,773 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 91,125 ล้านบาท และปัจจุบันมีผู้ยังไม่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม จำนวน 111,481 ราย
2. กค. จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก โดยผู้ขอใช้สิทธิที่จะได้รับสิทธิตามโครงการฯ จะต้องรับมอบรถยนต์ภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 ส่วนการยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้ยื่นภายใน 90 วัน นับถัดจากวันรับมอบรถยนต์ตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ทั้งนี้ หากรับมอบรถยนต์ภายหลังวันที่ 30 กันยายน 2558 ให้ถือว่าไม่ได้รับสิทธิตามโครงการฯ นี้ และจะเรียกร้องสิทธิและค่าเสียหายใด ๆ กับทางราชการไม่ได้
5. เรื่อง การเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ปี 2556 – 2557
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2556 –2557 เสนอ ดังนี้
1. กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2548 – 2553 ในส่วนที่ยังคงค้างการช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน ตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 วันที่ 6 มีนาคม 2555 และวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เห็นควรรอจนกว่าคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะถึงที่สุด
2. เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2556 – 2557 (ชีวิตและร่างกาย)
3. อนุมัติให้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังนี้
3.1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเยียวยา วงเงิน 120,000,000 บาท โดยให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือและเบิกจ่ายงบประมาณในการจ่ายเงินเยียวยา เงินฟื้นฟูสมรรถภาพและเงินยังชีพ และสำนักงานปลัดกระทวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือและเบิกจ่ายงบประมาณในการจ่ายเงินทุนการศึกษาแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาภายใต้หลักเกณฑ์ สำหรับในปีงบประมาณต่อไปขอให้ตั้งงบประมาณปกติในการเยียวยา
3.2 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของคณะกรรมการอำนวยการฯ คณะอนุกรรมการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สป.ศธ. และ สปน. วงเงิน 1,000,000 บาท โดยให้ สปน. เป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556 – 2557 (ชีวิตและร่างกาย) มีอัตราการช่วยเหลือ ดังนี้ 1) เสียชีวิตรายละ 400,000 บาท 2) ทุพพลภาพและต้องฟื้นฟูสมรรถภาพรายละ 400,000 บาท 3) ทุพพลภาพรายละ 200,000 บาท 4) บาดเจ็บสาหัส รายละ 100,000 บาท 5) บาดเจ็บรายละ 60,000 บาท 6) บาดเจ็บเล็กน้อยรายละ 20,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือเป็นเงินยังชีพรายเดือนและเงินทุนการศึกษารายปีให้แก่บุตรของผู้เสียชีวิตและผู้ทุพพลภาพที่กำลังศึกษาอยู่ ทั้งนี้ ให้นำจำนวนเงินช่วยเหลือชดเชยอื่น ๆ จากภาครัฐทั้งหมดอันเนื่องมาจากมูลเหตุหรือความเสียหายเช่นเดียวกันที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับไปแล้ว (ถ้ามี) มาหักออกจากจำนวนเงินเยียวยาที่จะได้รับ ซึ่งคาดว่าใช้งบประมาณในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 862 ราย (เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บ 834 ราย) จำนวน 120,000,000 บาท และมอบหมายให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ สป.ศธ. เป็นผู้ดำเนินการ สำหรับการเยียวยาในด้านอื่น ๆ ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเยียวยาต่อไปตามอำนาจหน้าที่
6. เรื่อง ภาวะสังคมไตรมาสที่สองของปี 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไตรมาสที่สองของปี 2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงาน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญไตรมาสที่สองของปี 2558
1.1 การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานต่ำ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นช้าในไตรมาสสองของปี 2558 ผู้มีงานทำมีจำนวน 37,751,800 คนลดลงร้อยละ 0.2 จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นการจ้างงานลดลง ในภาคเกษตรร้อยละ 5.8 เป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลง นอกจากนี้ภาวะฝนแล้งส่งผลให้เกษตรกรต้องเลื่อนฤดูกาลเพาะปลูกจากช่วงเดือนพฤษภาคมไปเป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมทำให้แรงงานเกษตร 315,848 คนเป็นแรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 ซึ่งไม่นับเป็นผู้ว่างงาน อย่างไรก็ตามการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วและสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคนอกเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.88 ลดลงจากร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้วแรงงานมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย (ทุกสถานภาพ) 43.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.5 ค่าจ้าง แรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 3 มาตรการ ได้แก่ การให้เลื่อนเวลาการเพาะปลูก การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูก และร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการจัดหาทุนเพื่อปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรผสมผสาน นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนจำนวน 6.54 พันล้านบาท
1.2 หนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกปี 2558 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ10,570,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 79.9 สำหรับไตรมาสสองของปี 2558 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 3.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อที่ดิน และการบริโภคอื่นยังคงเพิ่มขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ทั้งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อภายใต้การกำกับ และบัตรเครดิตยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 22.8 และ 28.0 ตามลำดับ และสัดส่วนหนี้เสียต่อยอดคงค้างของสินเชื่อเหล่านี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ (1) การดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ โดยตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม-1 กรกฎาคม 2558 มีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์แล้ว 9 ราย และเปิดให้บริการแล้ว 3 ราย และ (2) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนส่วนราชการและเขตพื้นที่การศึกษา คณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู คณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามลูกหนี้ค้างชำระ เพื่อทำหน้าที่กำกับ ติดตามหนี้ค้างชำระ ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการครูใหม่ เพิ่มวงเงินกู้ยืมของครูจากเดิมรายละ 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท และดำเนินการร่วมกับธนาคารออมสินในการปรับโครงสร้างหนี้ครู
1.3 คุณภาพการศึกษาเป็นปัญหาเร่งด่วน การประเมินผลการสอบ ONET ในปี 2553-2557 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักไม่ถึงร้อยละ 50 ค่าเฉลี่ยวิชาหลัก ม.6 ต่ำสุด อยู่ระหว่าง 29.52-37.31 และนักเรียนในเขตกรุงเทพฯ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยในทุกระดับสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในเขตภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องอีกทั้งยังมีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา
เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบโดยมีประเด็นที่เร่งรัดผลักดันได้แก่ การปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การปรับตารางการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่น การจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ การขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมโดยการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยคัดเลือกครูจากโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงและโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นโรงเรียนต้นทางในการถ่ายทอดสดการสอนไปยังโรงเรียนปลายทาง การส่งเสริม/เพิ่มบทบาทของสถานประกอบการต่างๆ ในการเสนอแนะเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาระบบการสรรหาและพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
1.4 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ในไตรมาสสองของปี 2558 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 8.2 โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า และต้องเฝ้าระวังโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน การระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์สอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะยุติ รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
1.5 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ในไตรมาสสองของปี 2558ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมูลค่า 33,971 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ3.3 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 15,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 2.3และเมื่อพิจารณาอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.2 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 32.3 ในปี 2557 แม้ว่ากลุ่มเยาวชนจะมีอัตรา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากปี 2556 หากยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายเนื่องจากมีสถานบริการและร้านขายปลีกกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณใกล้สถานศึกษาหรือหอพัก และสถานบริการหรือผู้ขายยินยอมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการและซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงได้ออกคำสั่งเรื่อง “มาตรการในการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ” เพื่อลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเด็ดขาด
1.6 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมดีขึ้น สถานการณ์ยาเสพติดดีขึ้นจากการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่คดีทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นคดีอาญารวมในไตรมาสสองของปี 2558 ลดลงร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 คดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 คดียาเสพติดยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 77.3 ของคดีอาญารวม โดยลดลงร้อยละ 37.3 เป็นผลจากการที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและอย่างจริงจัง รวมทั้งเน้นการสกัดกั้นจุดเสี่ยงและจุดตัดตามแนวชายแดนป้องกันไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ชั้นใน
1.7 การสร้างพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยต่อคนเดินเท้าเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรทางบก แม้สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสสองของปี 2558 ลดลงร้อยละ 3.4 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ขณะที่อุบัติเหตุรถยนต์ชนคนเดินเท้าเสียชีวิตประมาณร้อยละ 15 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพถนนมีปัจจัยเสี่ยงต่อคนเดินถนนค่อนข้างมากโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนที่ไม่มีเกาะกลาง และคนเดินข้ามถนนมักถูกรถชนในช่วงทางตรงและทางแยก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงและสูญเสียเพิ่มขึ้นมาก
1.8 ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป ถึงแม้ระยะเวลาที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังคงถูกจัดอันดับอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประเมินการดำเนินการระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2557-31 มีนาคม 2558 รัฐบาลไทยยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังเพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรมภายใต้หลักการมาตรฐานสากล 5P (Policy, Prosecution, Protection, Prevention, Partnership) ด้วยการเติมเต็มในเรื่องการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกลับมาทำซ้ำอีก การยกระดับการประชาสัมพันธ์ปัญหาการค้ามนุษย์ต่อสาธารณะทั้งในด้านปัญหาและแนวทางการป้องกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไข เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีความจริงจังไม่ละเว้นในการปราบปราม ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล
1.9 การคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับไขมันทรานส์ยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดัน เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและตายที่สำคัญ ในหลายประเทศได้มีมาตรการ เพื่อลดการใช้ไขมันชนิดนี้ในการปรุงอาหาร อาทิ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกาฯลฯ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีอาหารหลายชนิดที่มีไขมันทรานส์ที่ค่อนข้างสูง อาทิ โดนัท เวเฟอร์ ครัวซองค์ มาการีนฯลฯ แต่ประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับในการแสดงไขมันทรานส์บนฉลากซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดให้มีการแสดงฉลาก รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้ความรู้ในการเลือกรับประทานอาหารที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดให้กับผู้บริโภค
2. บทความพิเศษเรื่อง “การทำงานของผู้สูงอายุ: ความจำเป็นที่ต้องผลักดัน”
2.1 การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยเพิ่มจากร้อยละ 6.8 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 14.9 ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 32.1 ในปี 2583 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มสูงขึ้น จากการศึกษาบัญชีกระแสการโอนประชาชาติในปี 2583 พบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุจะทำให้การขาดดุลรายได้เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุขาดความมั่นคงด้านรายได้เนื่องจากเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในระยะเวลาหลังชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น แหล่งรายได้จากบุตรหลาน มีแนวโน้มลดลง ภาวะขาดแคลนแรงงานขณะที่การพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้านมีข้อจำกัดจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในเวลาใกล้เคียงกัน รวมทั้งภาระการคลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
2.2 ปี 2557 มีผู้สูงอายุทำงาน 3.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 38.4 ของผู้สูงอายุทั้งหมด จำนวน 2 ใน 3 ทำงานธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ร้อยละ 90 เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนลูกจ้างเอกชนที่ลดลงก่อนอายุ 60 ปี โดยอยู่ในภาคเกษตรฯ ร้อยละ 63.8 ขณะที่แรงงานสูงอายุในระบบกระจายอยู่ในภาคเกษตร การผลิตอุตสาหกรรม และค้าส่งค้าปลีก โดยอาชีพและสาขาที่ผู้สูงอายุทำอยู่จะสอดคล้องกับสาขาที่มีการขาดแคลน ด้านความต้องการแรงงานพบว่าภาคเอกชนรับรู้การเป็นสังคมสูงวัยแต่ยังขาดความตระหนักถึงผลกระทบและการเตรียมการ โดยสาขาโรงแรมภัตตาคารและการขนส่งมีการจ้างแรงงานหลังครบกำหนดอายุการทำงานมากที่สุด
ด้านอุปทานแรงงานส่วนใหญ่ต้องการทำงานถึงอายุ 60 ปี เนื่องจากภาคเอกชนส่วนใหญ่จะกำหนดอายุครบกำหนดการทำงานที่อายุ 55 ปี รวมถึงทัศนคติที่เห็นว่าอายุเกิน 60 ปีเป็นผู้สูงอายุที่ควรพักผ่อน แรงงานร้อยละ 60 ไม่แน่ใจว่าควรมีการขยายอายุครบกำหนดการทำงานหรือไม่ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนและเกรงจะกระทบสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากประกันสังคม สำหรับการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นการจ้างงานตามความสมัครใจ มีความยืดหยุ่น รวมทั้งมีการสนับสนุนจากรัฐในการเพิ่มแรงจูงใจ การสร้างกลไกเพื่อสนับสนุน ตลอดจนการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบและความจำเป็นของการทำงานของผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์จากต่างประเทศที่เน้นการเพิ่มแรงจูงใจ การเปลี่ยนทัศนคติ และการพยายามเพิ่ม การจ้างงาน
3. ประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป มีดังนี้
3.1 ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงานได้แก่ รายได้ของแรงงานลดลงทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการลดชั่วโมงการทำงานลงของผู้ประกอบการ การเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลง และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
3.2 การลดปัญหาอาชญากรรมยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเฉียบขาดในการกดดัน ควบคุม ป้องกันและปราบปราม ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกทางสังคม
3.3 การสร้างความปลอดภัยในการป้องกันหรือคุ้มครองการบาดเจ็บและการสูญเสีย ในกลุ่มคนเดินเท้าโดยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้รถใช้ถนน และการปฏิบัติตามกฎจราจร การกำหนดความเร็วให้เหมาะสมกับประเภทของถนน
3.4 แนวทางการส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุโดย (1) การใช้มาตรการจูงใจการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานสูงอายุขยายเวลาการทำงาน อาทิ การสร้างงานที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ การลดการออกจากงานก่อนครบกำหนด การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ และการทบทวนเกณฑ์และผลประโยชน์ที่แรงงานจะได้รับจากการครบกำหนดการทำงานด้านผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงาน อาทิการสร้างความตระหนักของผลกระทบจากเข้าสู่สังคมสูงวัยการกำหนดงานเฉพาะที่แรงงานสูงอายุจะได้รับการพิจารณาพิเศษ การปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานของผู้สูงอายุ (2) การลดอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการสร้างทัศนคติและค่านิยมที่ดีเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การทำงานและการออมการปรับเงื่อนไขการทำงาน ตลอดจนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ทำงาน การเดินทางและใช้ชีวิตให้เหมาะสม (3) มาตรการสนับสนุน โดยการปรับปรุงกฎหมายการไม่เลือกปฏิบัติกับลูกจ้างสูงอายุ การสร้างระบบคัดกรองและจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน การพัฒนาระบบประเมินและการกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับสมรรถนะการให้มีศูนย์บริการการจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ และ (4) การสร้างระบบการเงินการคลังมหภาค เพื่อพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญและการออมให้เอื้อต่อส่งเสริมให้เกิดการขยายอายุการทำงานรวมทั้งมีกลไกในการจัดการการพิจารณานโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมบำเหน็จบำนาญทุกกลุ่มเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มต่างๆและ (5) การเตรียมความพร้อมคนไทยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า โดยเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของคนไทยตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุเพื่อให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่าและมีสุขภาพแข็งแรง การส่งเสริมการพัฒนาทักษะและอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการทำงานของผู้สูงอายุ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยและผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความพร้อมในทุกมิติ
7. เรื่อง การเสนอหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และคู่มือการดำเนินงานตามาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวทาง และคู่มือการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำโครงการ มีรายละเอียดดังนี้
1. หลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ
1.1 จะจัดสรรงบประมาณในการจัดทำโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
ตำบลละ 5 ล้านบาท
1.2 งบประมาณที่จะจัดสรรให้ตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงินที่ได้รับการ
จัดสรรตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของ มท. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 (จำนวน 6,541.09 ล้านบาท) และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 (จำนวน 490.60 ล้านบาท) ด้วย
1.3 ตำบลใดได้รับการจัดสรรงบประมาณตามข้อ 1.1 เต็มกรอบวงเงิน 5 ล้านบาท แล้วจะไม่ได้
รับการจัดสรรงบประมาณตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลอีก
1.4 ตำบลใดได้รับการจัดสรรงบประมาณตามข้อ 1.1 ไม่เต็มกรอบวงเงิน 5 ล้านบาท จะได้รับ
การจัดสรรงบประมาณในการจัดทำโครงการตามกรอบวงเงินที่เหลืออยู่
2. แนวทางการจัดทำโครงการ
2.1 ลักษณะของโครงการ
1) เป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น
2) เป็นโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย ปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น
3) โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน / ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น
2.2 หลักเกณฑ์การตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ
1) โครงการได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน / คณะกรรมการชุมชน
2) จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน / โครงงาน /กิจกรรมของส่วนราชการ / หน่วยงาน/ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการในพื้นที่
2.3 เป็นโครงการที่หมู่บ้าน / ชุมชนสามารถดูแลรักษาและสามารถใช้ประโยชน์ ได้อย่างต่อเนื่อง
2.4 มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีที่มีการอนุมัติโครงการ
2.5 ควรเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 31 ธันวาคม 2558
2.6 เป็นโครงการที่จะช่วยในการบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน ที่กำลังประสบปัญหาในสภาวการณ์ปัจจุบัน
2.7 สถานที่ดำเนินการต้องเป็นสถานที่สาธารณะที่มีหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากหน่วยงานที่ดูแลหรือหากเป็นสถานที่ส่วนบุคคลต้องมีเอกสารยืนยันให้ใช้สถานที่ โดยระบุเป็นลายลักษณ์อักษร มีระยะเวลาสอดคล้องกับการใช้อาคารสถานที่นั้น ๆ
8. เรื่อง มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ ผู้ประกอบกิจการ SMEs และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 20,020 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารออมสินทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
2. ทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS ระยะที่ 5 เดิมที่เคยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และอนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไข และอนุมัติงบประมาณการชดเชยความเสียหายตามที่เสนอ ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณส่วนที่เหลือจากกรอบเงินงบประมาณจำนวน 13,800 ล้านบาท ของโครงการ PGS-5 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม 2556 ก่อนเป็นลำดับแรก สำหรับงบประมาณส่วนที่เหลือให้ บสย. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป
3. เห็นชอบการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559
4. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
5. มอบหมายให้กรมสรรพากรดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการ ตามข้อ 3 และ 4 มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป
สาระสำคัญของมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบกิจการ SMEs มีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
1. มาตรการการเงิน
1.1 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1.1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ : เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs บรรเทาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs เฉพาะการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยมีเงื่อนไขไม่ให้ Refinance หนี้เดิม วงเงินโครงการรวม 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยผู้ประกอบกิจการ SMEs เพื่อประกอบการเบิกเงินกู้จากธนาคารออมสิน
1.1.2 อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลา : กำหนดให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อไม่เกิน 7 ปี โดยผู้ประกอบกิจการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายใน 31 ธันวาคม 2558 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน
1.1.3 การใช้วงเงินโครงการของธนาคารออมสิน : ธนาคารออมสินสามารถใช้วงเงินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสิน ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” 2) โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน 3) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 4) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ 5) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง
1.1.4 การชดเชย : รัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน ในอัตราเท่ากับต้นทุนทางการเงินของธนาคาร (ร้อยละ 2.21 ต่อปี) บวก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ร้อยละ 0.75 ต่อปี) หัก อัตราผลตอบแทนจากการให้สถาบันการเงินกู้ร้อยละ 0.1 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 2.86 ต่อปี ดังนั้น ประมาณการค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องชดเชยเป็นจำนวน 2,860 ล้านบาทต่อปี งบประมาณชดเชยรวม 7 ปี 20,020 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
1.2 การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS-5 มีรายละเอียด ดังนี้
1.2.1 วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท
1.2.2 วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน
1.2.3 อายุการค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี
1.2.4 สิ้นสุดระยะเวลารับคำขอค้ำประกันวันที่ 30 มิถุนายน 2559
1.2.5 ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุโครงการโดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการดังนี้
(1) จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.75 ในปีที่ 1
(2) จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.25 ในปีที่ 2
(ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.5)
(3) จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 0.75 ในปีที่ 3 (ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1)
(4) จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 0.25 ในปีที่ 4
(ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1.5)
1.2.6 การจ่ายค่าประกันชดเชยของ บสย.
(1) จ่ายค่าประกันชดเชยกรณีที่เป็น NPGs ทั้งโครงการรวมทั้งสิ้น ไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกัน
(2) จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย (Coverage Ratio per SMEs) เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย ในสัดส่วน ร้อยละ 15 แรกของภาระค้ำประกัน ที่เป็น NPGs ส่วนที่เหลือจ่ายค่าประกันชดเชยร้อยละ 50 ของภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย
(3) จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกันในแต่ละ Portfolio (Coverage Ratio per Portfolio) สูงสุดไม่เกินร้อยละ 22.5 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ
1.2.7 การชดเชยจากรัฐบาล
การดำเนินการตามโครงการดังกล่าว บสย. จำเป็นต้องขอรับการชดเชย
ความเสียหายจากรัฐบาลตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นเงินจำนวน 14,250 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันใน 4 ปีแรก เป็นเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท ((ร้อยละ 1.75 + ร้อยละ 1.25 + ร้อยละ 0.75 + ร้อยละ 0.25) x 100,000)
(2) ชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการ 7 ปี เป็นเงินจำนวน 10,250 ล้านบาท [((ร้อยละ 22.5) - (ร้อยละ 1.75 x 7)) x 100,000 ล้านบาท]
(3) ให้ บสย. ค้ำประกันตามเงื่อนไขโครงการ PGS-5 ที่ปรับปรุงใหม่นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
1.3 มาตรการสนับสนุน SMEs ผ่านการร่วมลงทุน
ธนาคารออมสิน ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับ SMEs (ลงทุนในส่วนของทุน) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการลงทุน ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยรูปแบบของกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นอยู่กับความสามารถและความเหมาะสมในการบริหารจัดการของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งนี้ กองทุนร่วมลงทุนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมลงทุนใน SMEs ระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง หรือมีโอกาสในการเติบโต หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็น Supplier ธุรกิจภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ หรือเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าไทยหรือหน่วยงานภาครัฐ
นอกจากนี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่งสามารถให้ SMEs ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกู้เงินเพิ่มเติมจากส่วนที่สถาบันการเงินเข้าไปร่วมลงทุนได้ โดยทั้ง 3 สถาบันการเงินจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวภายใน 31 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินการร่วมลงทุนกับ SMEs ตามพันธกิจของกองทุนต่อไป
2. มาตรการการคลัง
2.1 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
2.1.1 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้ นิติบุคคลสำหรับ SMEs เป็นดังนี้
กำไรสุทธิของ SMEs ปัจจุบัน ข้อเสนอ
0-300,000 บาท ยกเว้น ยกเว้น
300,001-3,000,000 บาท 15% 10%
3,000,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 20 ร้อยละ 10
2.1.2 ผลกระทบ
(1) คาดว่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท และการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 960 ล้านบาทจากกรณีปกติ
(2) รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ จะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตชดเชยรายได้ภาษีที่สูญเสียไป เนื่องจากเป็นการจูงใจ
ให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
2.2 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up)
2.2.1 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบกิจการ
ที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี
ต่อเนื่องกัน โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
(2) จะต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร
(3) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม
การลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(4) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ต่างประเทศ
9. เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำและลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการจัดทำและลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 ทั้งนี้ หากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช้สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้ คค. หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนาม ฝ่ายไทย และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามความตกลงดังกล่าว
3. อนุมัติให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้แทนสำหรับการลงนามดังกล่าว
ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ที่ตั้งโครงการ (1) ฝั่งไทย บ้านวังตะเคียนใต้ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (2) ฝั่งเมียนมา หมู่ 5 เมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี รัฐกระเหรี่ยง
2. กรรมสิทธิ์ในโครงการ (1) ฝ่ายไทยมีกรรมสิทธิ์จากจุดกึ่งกลางสะพานมาทางด้านฝั่งไทย รวมถึงถนนเชื่อม ถนนเปลี่ยนทิศทางการจราจร อาคารด่านควบคุม และสิ่งปลูกสร้างทางฝั่งไทยทั้งหมด (2) ฝ่ายเมียนมา มีกรรมสิทธิ์จากจุดกึ่งกลางสะพานไปทางด้านฝั่งเมียนมา รวมถึงถนนเชื่อม อาคารด่านควบคุม และสิ่งปลูกสร้าง ทางฝั่งเมียนมาทั้งหมด
3. เขตแดน ไม่กระทบเส้นเขตแดน ตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่อง กำหนดเขตแดนบนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างราชอาณาจักรสยาม และมณฑลของอังกฤษ คือ เทนเนสเซอริม (ตะนาวศรี) ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2411
4. ระบบการจราจร สะพานมี 2 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางและทางเดินเท้าให้การจราจรแล่นชิดขวาเท่านั้น โดยมีจุดสลับทิศทางการจราจรอยู่ในฝั่งไทย
5. กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญาจ้างสำหรับงานก่อสร้างโครงการทุกประเภท และหากมีข้อพิจารณาอื่นใด อันจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือเอื้ออำนวยต่อโครงการ ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกัน ภายใต้กรอบกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละฝ่าย
ทั้งนี้ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 ต้องจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยจะมีการลงนามร่างความตกลงในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ระหว่างวันที่ 9 – 10 กันยายน 2558 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
10. เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 และร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้แผนงาน GMS รวมทั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ในวันที่ 10 กันยายน 2558 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีของไทยในแผนงาน GMS โดยต่อเนื่องต่อไป
2. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค
ลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้ร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้ความเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีฯ โดยไม่มีการลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ในวันที่ 10 กันยายน 2558 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
3. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สามารถ
ปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี ฯ ได้ในกรณีที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การเข้าร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6
ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
1.1 สร้างความเชื่อมมั่นแก่นักลงทุนจากต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในสาขาที่มี
ศักยภาพเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การค้า การลงทุน การบริการและการท่องเที่ยว ตามพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
1.2 เป็นโอกาสในการนำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค โดย
นำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของไทยในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพัฒนาระบบถนน ระบบราง และด้านพรมแดน เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีความพร้อมร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมดังกล่าวด้วย
1.3 เป็นโอกาสในการนำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการเป็นหุ้นส่วน
การพัฒนาและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในภูมิภาคของไทย ในการร่วมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
1.4 เป็นโอกาสในการระบุถึงประเด็นปัญหาและข้อจำกัดทางด้านสังคมและร่วมกันแก้ไข
ปัญหาต่างๆ อันเนื่องมาจากการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน อาทิ ปัญหาทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และแรงงานข้ามพรมแดน เป็นต้น
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่ม
แม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาระสำคัญคือ เป็นการทบทวนความสำเร็จที่ผ่านมาภายใต้แผนงาน GMS ประกอบด้วย ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (RIF-IP) ปี 2557-2561 และหารือถึงแนวทางในการนำแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตั้งมั่นและลงมือปฏิบัติตามข้อสั่งการของผู้นำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยการเขาสู่ความเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน และการนำประเด็นหลังปี 2557 ของสหประชาชาติในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาปรับใช้ตลอดจนประเมินบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของแผนงาน GMS ในการเสริมสร้างความเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว
11. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
1. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข
2. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับ
แก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66
3. หากจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขรายงานฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของ
ประเทศไทย ให้ ทส. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง และให้จัดส่งรายงานฯ ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) ตามระยะเวลาที่กำหนด
สาระสำคัญความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไข (1 เมษายน – 30 กันยายน 2558) สรุปได้ ดังนี้
1. การออกระเบียบและกฎหมาย หลังจากที่ได้ออกกฎหมายหลัก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 และได้ออกกฎหมายรองตามพระราชบัญญัติสองฉบับดังกล่าวแล้ว 21 ฉบับ ต่อมาได้มีการออกกฎหมายรองตามพระราชบัญญัติงาช้าง จำนวน 1 ฉบับ รวมกฎหมายรองที่ออกแล้วในปัจจุบัน จำนวน 22 ฉบับ
2. การจัดทำระบบทะเบียนข้อมูล ได้มีการนำเข้าข้อมูลต่าง ๆ ในระบบทะเบียนทั้ง 3 ระบบ คือ
(1) ระบบทำเบียนข้อมูลการครอบครองงาช้างบ้านและงาช้างแอฟริกาที่ถูกกฎหมาย โดยนำเข้าข้อมูลการครอบครองงาช้างบ้าน 30,727 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2558) และข้อมูลการครอบครองงาช้างแอฟริกาที่ถูกกฎหมายทั้งหมด 54 ราย
(2) ระบบทะเบียนข้อมูลผู้ค้างาช้างและรายการสินค้างาช้าง ปัจจุบันนำเข้าข้อมูลผู้ค้างาช้างบ้านแล้ว ทั้งหมด 247 ราย และอยู่ระหว่างเร่งรัดขำเข้าข้อมูลสินค้างาช้าง
(3) ระบบฐานข้อมูลงาช้างของกลาง ซึ่งปัจจุบันมีงาช้างของกลางอยู่ในการดูแลของกรมศุลกากรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 17,234.5 กิโลกรัม
3. การกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย โดยแบ่งเป็น
(1) การกำกับดูแลผู้ค้างาช้างบ้านให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยได้เพิ่มจำนวนสายตรวจร้านค้างาช้าง จาก 22 สาย เป็น 79 สาย และได้ออกปฏิบัติงานตรวจร้านค้าทั่วประเทศในพื้นที่เป้าหมาย 8 พื้นที่ เฉลี่ย 3 – 4 ครั้ง/สาย/เดือน และพื้นที่เฝ้าระวัง 14 พื้นที่ เฉลี่ย 1 – 2 ครั้ง/สาย/เดือน โดยได้จับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติงาช้างจำนวน 4 คดี ผู้ต้องหา 4 คน
(2) การปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายมีการจับกุมดำเนินคดีการกระทำผิดเกี่ยวกับงาช้างระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2558 จำนวน 5 คดี เป็นคดีรายใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน 500 กิโลกรัม จำนวน 2 คดี และมีการเก็บตัวอย่างงาช้างของกลางเพื่อตรวจ DNA นอกจากนี้เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการกำจัดอาชญากรรมสัตว์ป่าและการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ได้มีการทำลายงาช้างของกลางที่สิ้นสุดคดีและตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 2,155.17 กิโลกรัม โดยมีนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานในพิธีบดทำลายงาช้างดังกล่าว
(3) การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้มีการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติงาช้างและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ โดย ตช.และมีการจัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมและได้รับการฝึกอบรม รวมทั้งหมด 1,082 คน
4. การประชาสัมพันธ์ ได้มีการจัดทำเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่
(1) ให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการค้างาช้างเกี่ยวกับการค้างาช้างอย่างถูกกฎหมาย ไม่ค้างาช้างแอฟริกา และไม่ขายงาช้างให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
(2) แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ให้ซื้อและนำงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างออกนอกประเทศ
(3) สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปัญหาการล่าช้างและการลักลอบค้างาช้าง เพื่อสร้างการลด ละ เลิก บริโภคงาช้าง โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหลัก 6 ประเภท ได้แก่ หนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ และป้ายประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งที่สนามบินนานาชาติ สายการบินแห่งชาติ ช่องทางการทูต ตลอดจนเวทีระหว่างประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในต่างประเทศผ่านคณะทูตไทยและหน่วยงานการท่องเที่ยวของไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศที่นิยมบริโภคงาช้าง
5. การติดตามและประเมินผล ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ จำนวน 4 ชุด ได้แก่
(1) คณะอนุกรรมการด้านการออกระเบียบและกฎหมาย (2) คณะอนุกรรมการด้านจัดทำระบบทะเบียนข้อมูล (3) คณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย (4) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์
และได้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ชุดต่าง ๆ ดังกล่าว เพื่อติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 6 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการประชุมของคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ประจำประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนฯ ปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา จำนวน 5 ครั้ง
รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยฯ ฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66 ประกอบด้วย
รายการ เนื้อหาสาระ
1. บทสรุปย่อผลการดำเนินงานตาม NIPA ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม NIPA อย่างย่อในภาพรวมจนถึงปัจจุบัน แนวทางการดำเนินงานในอนาคต
2. สรุปการประเมินระดับความก้าวหน้าราย
กิจกรรม เป็นการประเมินระดับความก้าวหน้าตามรายกิจกรรมเป็น “Substantially achieved, On track, Challenging, Unclear” ตามรูปแบบตารางที่กำหนด
3. รายละเอียดการประเมินระดับความก้าวหน้าราย
กิจกรรม เป็นการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานในรายกิจกรรมและระดับความก้าวหน้าตามรูปแบบตารางที่กำหนด
4. ตัวชี้วัด เป็นการแสดงข้อมูลการดำเนินการตามตัวชี้วัดที่ระบุไว้ใน NIAP
5. ข้อชี้แจง ข้อชี้แจงต่อคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ต่อการดำเนินงานตาม NIPA ของประเทศไทย
6. ภาคผนวก เป็นการแสดงข้อมูลสนับสนุนต่าง ๆ เช่น ภาพถ่าย รายละเอียด ตัวอย่างเอกสาร เป็นต้น แยกตามหมวดกิจกรรม
ทั้งนี้ ทส. ได้จัดประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาฯ ประจำประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 2 ครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66 ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
แต่งตั้ง
12. เรื่อง การแต่งข้าราชการการเมือง(กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองจำนวน 4 ราย ดังนี้
1. นายวิจักร วิเศษน้อย ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
3. นางดวงกมล เจียมบุตร ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
4. นายนวพล วิริยะกุลกิจ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
13. เรื่อง การแต่งตั้งรองประธานกรรมการในคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แต่งตั้ง พันเอก (พิเศษ) ดิเรก ดีประเสริฐ ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการในคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
14. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ให้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามลำดับ ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 58 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 จำนวน 54 ราย และตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2558 จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
1. นายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดกาญจนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายอำนวย ตั้งเจริญชัย ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดหนองบัวลำภู ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดแพร่ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดกาญจนบุรี
4. นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดตรัง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดจันทบุรี
5. นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชัยนาท
6. นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสกลนคร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดเชียงราย
7. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอ่างทอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดเชียงใหม่
8. นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสตูล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดตรัง
9. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชัยภูมิ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครราชสีมา
10. นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดลพบุรี ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครสวรรค์
11. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดภูเก็ต ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนนทบุรี
12. นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพิจิตร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดปทุมธานี
13. นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครนายก ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
14. นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดน่าน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดปราจีนบุรี
15. นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดแพร่
16. นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพะเยา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพิษณุโลก
17. นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดจันทบุรี ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดลำปาง
18. นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครพนม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสกลนคร
19. นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดกระบี่ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสงขลา
20. นางสาวจิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดปราจีนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสมุทรสงคราม
21. นายอัครเดช เจิมศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสิงห์บุรี
22. นายวงศศิริ พรหมชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชุมพร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
23. นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดมหาสารคาม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอุดรธานี
24. นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอุบลราชธานี
25. นายอรรถพร สิงหวิชัย รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการพัฒนาชุมชน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
26. นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดศรีสะเกษ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
27. นายพินิจ บุญเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดกระบี่
28. นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครราชสีมา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดกาฬสินธุ์
29. นายชูศักดิ์ ตรีสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสระแก้ว ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชัยภูมิ
30. นายสมดี คชายั่งยืน รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชุมพร
31. นายชาญนะ เอี่ยมแสง รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดตราด
32. นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดลพบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครนายก
33. นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครพนม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครพนม
34. นายสิทธิชัย ศักดา รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนราธิวาส ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนราธิวาส
35. นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดพิจิตร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดน่าน
36. นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดเชียงใหม่ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพะเยา
37. นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพิจิตร
38. นายสนิท ขาวสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดศรีสะเกษ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดเพชรบุรี
39. นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครปฐม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดภูเก็ต
40. นายโชคชัย เดชอมรธัญ รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดมหาสารคาม
41. นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดมุกดาหาร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดมุกดาหาร
42. นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดราชบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน
43. นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการปกครอง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดยโสธร
44. นายดลเดช พัฒนรัฐ รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดยะลา
45. นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด
46. นายภานุ แย้มศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนนทบุรี ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดลพบุรี
47. นายเจน รัตนพิเชฏฐชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสมุทรสงคราม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสตูล
48. นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสมุทรสาคร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสมุทรสาคร
49. นายภัคพงษ์ ทวิพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสระบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสุรินทร์
50. นายพศิน โกมลวิชญ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดหนองบัวลำภู
51. นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอ่างทอง
52. นายยิ่งยศ ธนะจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดเลย ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ
53. นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครสวรรค์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอุตรดิตถ์
54. นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสมุทรสงคราม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอุทัยธานี
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558
55. นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมการพัฒนาชุมชน
56. นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพังงา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
57. นายภัคพงษ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสุรินทร์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพังงา
58. นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสุรินทร์
ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2558
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
16. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามลำดับ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางอรรชกา สีบุญเรือง) 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายวีระ โรจน์พจนรัตน์)
17. เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามลำดับ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา)
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์)
18. เรื่อง การรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการในการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว) 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์)
19. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตายนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
20. เรื่อง ผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการในการมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาราชการแทน ตามลำดับ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย ดังนี้ 1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) 2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์)
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ การแต่งตั้ง นายชัยสิริ อนะมาน เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. นายสุภัท กุขุน ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
2. พลโท จารุวุฒิ ศิระพลานนท์ ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้
1. พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์)
2. นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
(นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์)
3. พันเอก รัตนะโชติ อ่างทอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์))
4. หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์))
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
24. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้ 1. นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2. นายสุวินัย ต่อศิริสุข ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมืองของกระทรวงคมนาคม ดังนี้
1. นายภูมิใจ อัตตะนันทน์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
2. นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
(นายออมสิน ชีวะพฤกษ์)
3. นายอารักษ์ โพธิทัต ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
4. นางสาวกัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายออมสิน ชีวะพฤกษ์)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
26. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายอำนวย ปะติเส ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้ง พลเอก อรรถนพ ศิริศักดิ์ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
28.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางวิลาวัลย์ ตันรัตนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นายชัยณรงค์ โชไชย รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ (นักวิชาการพาณิชย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2558
2. นายวรวุฒิ โปษกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษากฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2558
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
30. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของกระทรวงการคลัง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการแต่งตั้งผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของกระทรวงการคลัง (กค.) โดยเปลี่ยนแปลงผู้ปฏิบัติหน้าที่ ปคร. ของ กค. จากนายประสิทธิ์ สืบชนะ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็น นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ตามที่ กค. เสนอ
31. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอรายชื่อพร้อมประวัติของบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย คือ พลตำรวจโท วรศักดิ์ นพสิทธิพร และนายธวัช สุนทราจารย์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นต้นไป
32. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 8 ราย ดังนี้
1. พลเรือเอก อิทธิคมน์ ภมรสูต ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร)
2. พลอากาศเอก บุญยฤทธิ์ เกิดสุข ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร)
3. พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย)
4. นาวาเอก รณัชย์ เทพวัลย์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย)
5. นายนพปฎล สุนทรนนท์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง(รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง)
6. พลอากาศโท บรรจง คลายสูตร์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง)
7. พลโทหญิง ดวงสุดา ขยันระงับพาล ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
8. นาวาโท สายชล ช้างน้อย ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิและขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการพ้นจากราชการเพราะครบเกษียณอายุราชการ (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายสุชาติ ตรีสัตยพันธ์ ผู้ตรวจราชการกรม กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ดำรงตำแหน่ง สถาปนิกใหญ่ (สถาปนิกทรงคุณวุฒิ) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ขอให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่ง และให้พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการต่อไป
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้
1. นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
2. นายธวัช ผลความดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
3. นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
4. นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายศักดา พันธ์กล้า ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
(ลำดับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และ
ลำดับที่ 2-5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอย้ายและย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 14 ตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ดังนี้
1. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4. นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5. นายสุรพงษ์ เจียสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
6. นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประมง
7. นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
8. นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมหม่อนไหม 9. นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
10. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
11. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการข้าว
12. นายเลอศักดิ์ ลิ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
13. นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
14. นายสุรเดช เตียวตระกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
36. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ซึ่งจะดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 และจะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีต่อไปอีก เป็นเวลา 10 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559
37. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้
1. โอน นางสาววรรณสิริ โมรากุล รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2. เลื่อน นางธิดา จงก้องเกียรติ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
3. โอน นายพรหมโชติ ไตรเวช รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
4. เลื่อน นายกิตติพงษ์ โพธิมู รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 10 ราย ดังนี้
1. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
2. นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
3. นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าภายใน
4. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายสมชาติ สร้อยทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
6. นางสาวศิรินารถ ใจมั่น รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
7. นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
8. นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
9. นางสาวอรุณี พูลแก้ว รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
10. นายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้
1. พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมคุมประพฤติ
2. นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
3. นายวีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน
40. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
2. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการและตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
41. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้
1. นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายสุภัทร จำปาทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
4. นายสุรพงษ์ จำจด ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการและตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
42. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายวีระกุล อรัณยะนาค รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายขจร จิตสุขุมมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไปเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
43. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ของ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2559
44. เรื่อง ขอรับโอนข้าราชการ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอรับโอน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว
45. เรื่อง การรับโอนข้าราชการมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอนและแต่งตั้ง นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี (นักปกครองระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนข้าราชการดังกล่าว
46. เรื่อง คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2558 เรื่อง ให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิม (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติทราบ กรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2558 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2558 เรื่อง แต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น และได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2558 ลงวันที่ 4 กันยายน 2558 เรื่อง ให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิม จำนวน 2 ราย ตามที่(สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) เสนอ ดังนี้
1. นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
2. นายชูศักดิ์ ตั้งศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดปราจีนบุรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการสอบสวนของ นายขวัญชัย วงศ์นิติกร และนายชูศักดิ์ ตั้งศิริไพบูลย์ สรุปว่า จากหลักฐานที่ปรากฏไม่สามารถชี้ชัดตามข้อกล่าวหาได้ จึงเห็นว่ากรณีไม่มีมูลตามข้อกล่าวหา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้บังคับบัญชา ได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าวแล้ว ประกอบกับบุคคลทั้งสองจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เพื่อความเป็นธรรมสมควรให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม
47. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 234/2558 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 234/2558 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ
ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 120/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี คำสั่งที่ 132/2557 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี คำสั่งที่ 34/2558 ลงวันที่ 30 มกราคม 2558 มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ พ.ศ. 2552 และคำสั่งที่ 184/2558 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ปรับปรุงการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 120/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 132/2557 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2557 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 34/2558 ลงวันที่ 30 มกราคม 2558 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 184/2558 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และมีคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1
1. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
1.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
1.1.1 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
1.1.2 คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
1.1.3 คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน
1.1.4 คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
1.1.5 คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราช อิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
1.1.6 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
1.1.7 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
1.1.8 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
1.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
1.2.1 รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
1.2.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ
1.3 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.3.1 คณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค
1.3.2 คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ของชาติ
1.3.3 คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ
1.3.4 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ
1.3.5 คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า
1.3.6 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
1.3.7 คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ
1.3.8 คณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการประปาแห่งชาติ
1.3.9 คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ
1.3.10 คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
1.3.11 คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอบรมอาชีพแห่งชาติ
1.3.12 คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราช อิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย
1.4 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
ส่วนที่ 2
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร)
2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
2.1.1 คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
2.1.2 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
2.1.3 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
2.1.4 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
2.1.5 คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
2.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
ส่วนที่ 3
3. รองนายกรัฐมนตรี (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย)
3.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
3.1.1 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
3.1.2 คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
3.1.3 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
3.1.4 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
3.1.5 คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
3.1.6 คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ
3.1.7 คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
3.1.8 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
3.1.9 คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
3.1.10 คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
3.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
- รองประธานกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
3.3 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.3.1 คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ
3.3.2 คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ
3.3.3 คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ
3.3.4 คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ
3.3.5 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม
3.3.6 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
3.3.7 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
ส่วนที่ 4
4. รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง)
4.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานในคณะกรรมการต่างๆที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
4.1.1 ประธานสภาวิจัยแห่งชาติ
4.1.2 สภานายกสภาลูกเสือไทย
4.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
4.2.1 คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
4.2.2 คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ
4.2.3 คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ
4.2.4 คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
4.2.5 คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
4.2.6 คณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน
4.2.7 คณะกรรมการนโยบายกองทุนตั้งตัวได้
ส่วนที่ 5
5. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
5.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
5.1.1 คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
5.1.2 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
5.1.3 คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี
5.1.4 คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
5.1.5 คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
5.1.6 คณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ
5.1.7 คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
5.1.8 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
5.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
5.2.1 คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ
5.2.2 คณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ
5.2.3 คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน
5.2.4 คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ
5.2.5 คณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ
5.2.6 คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน
5.2.7 คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
5.2.8 คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
5.2.9 คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
5.2.10 คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
5.2.11 คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ
5.2.12 คณะกรรมการประสานการบริการด้านการลงทุน
5.3 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
5.3.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ
5.3.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ
5.3.3 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ
5.3.4 รองประธานกรรมการคนที่หนึ่งในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนที่ 6
6. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)
6.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ และรองประธานสภาในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
6.1.1 คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6.1.2 คณะกรรมการกฤษฎีกา
6.1.3 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
6.1.4 คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
6.1.5 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
6.1.6 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
6.1.7 คณะกรรมการคดีพิเศษ
6.1.8 คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ
6.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
6.2.1 รองประธานสภาวิจัยแห่งชาติ
6.2.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
6.2.3 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
6.2.4 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
6.2.5 อุปนายกสภาลูกเสือไทย
6.3 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
6.3.1 คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ
6.3.2 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
6.3.3 คณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์
6.3.4 คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ
6.3.5 คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ
6.3.6 คณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม
6.4 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- รองประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
6.5 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- กรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน
ส่วนที่ 7
7. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล)
7.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
- คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
7.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
7.2.1 คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี
7.2.2 คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ
7.3 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
7.3.1 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ
7.3.2 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
7.3.3 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์
7.3.4 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ
7.3.5 รองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ
7.4 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ
ส่วนที่ 8
8. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ)
8.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
8.1.1 คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
8.1.2 คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
8.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
- รองประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
8.3 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนี้
- กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
8.4 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ
ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
8.4.1 คณะกรรมการนโยบายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
8.4.2 คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราช อิสริยาภรณ์ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย
8.5 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
8.5.1 รองประธานกรรมการคนที่หนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม
8.5.2 รองประธานกรรมการคนที่สองในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
8.6 การมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- กรรมการในคณะกรรมการประสานการบริการด้านการลงทุน
ส่วนที่ 9
9. ให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในส่วนราชการใดเป็นประธาน อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวงของส่วนราชการนั้นด้วย ยกเว้น อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน
10. เมื่อรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจแล้ว ให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบทุกสามสิบวัน
11. ให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในคำสั่งนี้ พิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมในการยุบเลิกคณะกรรมการดังกล่าว หากเห็นว่าหมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น หรืออาจยุบรวมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หรือปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว โดยการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่โดยยึดหลักการมีผู้รับผิดชอบภารกิจอย่างชัดแจ้ง การไม่ปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกัน และการบูรณาการภารกิจให้เกิดการประสานและสอดคล้องรองรับกัน แล้วเสนอผลการพิจารณาและข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำขึ้นใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่เห็นควรให้คงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ๆ ไว้ตามเดิมให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
http://www.thaigov.go.th
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396