รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 13 September 2015 21:10
- Hits: 4317
รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข
เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
1. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข
2. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฎิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66
3. หากจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขรายงานฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ ทส. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง และให้จัดส่งรายงานฯ ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) ตามระยะเวลาที่กำหนด
สาระสำคัญ ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไข (1 เมษายน – 30 กันยายน 2558) สรุปได้ ดังนี้
1. การออกระเบียบและกฎหมาย หลังจากที่ได้ออกกฎหมายหลัก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 และได้ออกกฎหมายรองตามพระราชบัญญัติสองฉบับดังกล่าวแล้ว 21 ฉบับ ต่อมาได้มีการออกกฎหมายรองตามพระราชบัญญัติงาช้าง จำนวน 1 ฉบับ รวมกฎหมายรองที่ออกแล้วในปัจจุบัน จำนวน 22 ฉบับ
2. การจัดทำระบบทะเบียนข้อมูล ได้มีการนำเข้าข้อมูลต่าง ๆ ในระบบทะเบียนทั้ง 3 ระบบ คือ
(1) ระบบทำเบียนข้อมูลการครอบครองงาช้างบ้านและงาช้างแอฟริกาที่ถูกกฎหมาย โดยนำเข้าข้อมูลการครอบครองงาช้างบ้าน 30,727 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2558) และข้อมูลการครอบครองงาช้างแอฟริกาที่ถูกกฎหมายทั้งหมด 54 ราย
(2) ระบบทะเบียนข้อมูลผู้ค้างาช้างและรายการสินค้างาช้าง ปัจจุบันนำเข้าข้อมูลผู้ค้างาช้างบ้านแล้ว ทั้งหมด 247 ราย และอยู่ระหว่างเร่งรัดขำเข้าข้อมูลสินค้างาช้าง
(3) ระบบฐานข้อมูลงาช้างของกลาง ซึ่งปัจจุบันมีงาช้างของกลางอยู่ในการดูแลของกรมศุลกากรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 17,234.5 กิโลกรัม
3. การกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย โดยแบ่งเป็น
(1) การกำกับดูแลผู้ค้างาช้างบ้านให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยได้เพิ่มจำนวนสายตรวจร้านค้างาช้าง จาก 22 สาย เป็น 79 สาย และได้ออกปฏิบัติงานตรวจร้านค้าทั่วประเทศในพื้นที่เป้าหมาย 8 พื้นที่ เฉลี่ย 3 – 4 ครั้ง/สาย/เดือน และพื้นที่เฝ้าระวัง 14 พื้นที่ เฉลี่ย 1 – 2 ครั้ง/สาย/เดือน โดยได้จับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติงาช้างจำนวน 4 คดี ผู้ต้องหา 4 คน
(2) การปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายมีการจับกุมดำเนินคดีการกระทำผิดเกี่ยวกับงาช้างระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2558 จำนวน 5 คดี เป็นคดีรายใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน 500 กิโลกรัม จำนวน 2 คดี และมีการเก็บตัวอย่างงาช้างของกลางเพื่อตรวจ DNA นอกจากนี้เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการกำจัดอาชญากรรมสัตว์ป่าและการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ได้มีการทำลายงาช้างของกลางที่สิ้นสุดคดีและตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 2,155.17 กิโลกรัม โดยมีนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานในพิธีบดทำลายงาช้างดังกล่าว
(3) การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้มีการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติงาช้างและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ โดย ตช.และมีการจัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมและได้รับการฝึกอบรม รวมทั้งหมด 1,082 คน
4. การประชาสัมพันธ์ ได้มีการจัดทำเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่
(1) ให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการค้างาช้างเกี่ยวกับการค้างาช้างอย่างถูกกฎหมาย ไม่ค้างาช้างแอฟริกา และไม่ขายงาช้างให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
(2) แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ให้ซื้อและนำงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างออกนอกประเทศ
(3) สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปัญหาการล่าช้างและการลักลอบค้างาช้าง เพื่อสร้างการลด ละ เลิก บริโภคงาช้าง โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหลัก 6 ประเภท ได้แก่ หนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ และป้ายประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งที่สนามบินนานาชาติ สายการบินแห่งชาติ ช่องทางการทูต ตลอดจนเวทีระหว่างประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในต่างประเทศผ่านคณะทูตไทยและหน่วยงานการท่องเที่ยวของไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศที่นิยมบริโภคงาช้าง
5. การติดตามและประเมินผล ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ จำนวน 4 ชุด ได้แก่
(1) คณะอนุกรรมการด้านการออกระเบียบและกฎหมาย (2) คณะอนุกรรมการด้านจัดทำระบบทะเบียนข้อมูล (3) คณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย (4) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ และได้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ชุดต่าง ๆ ดังกล่าว เพื่อติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 6 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการประชุมของคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ประจำประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนฯ ปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา จำนวน 5 ครั้ง
รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยฯ ฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66 ประกอบด้วย
รายการ 1. บทสรุปย่อผลการดำเนินงานตาม NIPA
เนื้อหาสาระ
ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม NIPA อย่างย่อในภาพรวมจนถึงปัจจุบัน แนวทางการดำเนินงานในอนาคต
รายการ 2. สรุปการประเมินระดับความก้าวหน้ารายกิจกรรม
เนื้อหาสาระ
เป็นการประเมินระดับความก้าวหน้าตามรายกิจกรรมเป็น “Substantially achieved, On track, Challenging, Unclear” ตามรูปแบบตารางที่กำหนด
รายการ 3. รายละเอียดการประเมินระดับความก้าวหน้ารายกิจกรรม
เนื้อหาสาระ
เป็นการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานในรายกิจกรรมและระดับความก้าวหน้าตามรูปแบบตารางที่กำหนด
รายการ 4. ตัวชี้วัด
เนื้อหาสาระ
เป็นการแสดงข้อมูลการดำเนินการตามตัวชี้วัดที่ระบุไว้ใน NIAP
รายการ 5. ข้อชี้แจง
เนื้อหาสาระ
ข้อชี้แจงต่อคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ต่อการดำเนินงานตาม NIPA ของประเทศไทย
รายการ 6. ภาคผนวก
เนื้อหาสาระ
เป็นการแสดงข้อมูลสนับสนุนต่าง ๆ เช่น ภาพถ่าย รายละเอียด ตัวอย่างเอกสาร เป็นต้น แยกตามหมวดกิจกรรม
ทั้งนี้ ทส. ได้จัดประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาฯ ประจำประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 2 ครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไข (Thailand’s Revised National Ivory Action Plan-NIAP) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 66 ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2558