WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

GOV6มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

               

     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

                1. เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 2,478 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อ ๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในรายละเอียดต่อไป

                2. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 36,275 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และ/หรือ 2559 และมอบหมายให้

                2.1 กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นผู้รับผิดชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยให้ มท. กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข โครงการต่าง ๆ เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากวันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการ ทั้งนี้ ให้เปิดเผยข้อมูลโครงการต่อประชาชนและรายงานการประเมินผลโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคม 2559

                2.2 ให้ สงป. เป็นผู้จัดหางบประมาณ พร้อมทั้งติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนงานการปฏิบัติงานและการเบิกจ่ายงบประมาณ และเสนอรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบความคืบหน้าทุกเดือน

                3. เห็นชอบมาตรการเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 โดยให้ สงป. จัดสรรงบประมาณ พร้อมทั้งจัดทำระบบการตรวจสอบ ติดตามและรายงานผลการเบิกจ่ายให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน รวมทั้งรายงานผลสำเร็จของโครงการต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคม 2559

                4. ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 (เรื่อง แนวทางการเสนอเรื่องงบประมาณต่อคณะรัฐมนตรี) สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในข้อ 2 และข้อ 3 เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเร็ว

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี ต่ำกว่าระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และผลผลิตและราคาพืชผลเกษตรสำคัญต่าง ๆ ปรับลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก จึงเห็นควรมีมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย

1.1 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1.1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ ให้สินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนฯ) ระดับ A ระดับ B กองทุนฯ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กองทุนฯ Refinance หนี้เดิม เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้กับกองทุนฯ กำหนดวงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนฯ ต้องนำหลักฐานการขอสินเชื่อจากสมาชิกกองทุนฯ เพื่อประกอบการเบิกเงินกู้จากธนาคารออมสินหรือ ธ.ก.ส.

1.1.2 อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลา กำหนดให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อกับกองทุนฯ ระยะเวลา 7 ปี นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา และดำเนินการทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558 โดยมีเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยดังนี้

(1) ปีที่ 1-2 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี

(2) ปีที่ 3-7 ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน (Financing Cost) บวกด้วยร้อยละ 1.0 ต่อปี และกำหนดให้กองทุนฯ ให้สินเชื่อกับสมาชิกกองทุนฯ โดยมีเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย ดังนี้

(3) ปีที่ 1-2 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี

(4) ปีที่ 3-7 ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราที่ธนาคารเรียกเก็บจากกองทุนในข้อ 1.1.2 (2) โดยมีเงื่อนไขไม่ให้สมาชิกกองทุนฯ Refinance หนี้เดิม

1.1.3 การชดเชย รัฐบาลชดเชยให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ตามต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสินได้รับชดเชยเท่ากับร้อยละ 2.21 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และ ธ.ก.ส. ได้รับชดเชยเท่ากับร้อยละ 1.92 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินชดเชยรวมทั้งหมดไม่เกิน 2,478 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. แยกบัญชีโครงการดังกล่าวเป็นบัญชีธุรกรรมตามนโยบายรัฐบาล (Public Service Account : PSA) โดยไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายในอนาคต และสามารถนำต้นทุนในการบริหารจัดการบวกกลับเพื่อใช้ในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้

1.2 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล

1.2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนผู้มีรายได้น้อยอ่อนแอลง โดยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบลจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน การบริโภค และการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรงบประมาณลงในระดับตำบล

1.2.2 สาระสำคัญ

(1) ให้ มท. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยจัดสรรงบประมาณให้ในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท (จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในจังหวัด          ในลักษณะดังต่อไปนี้

(1.1) โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น

(1.2) โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย ปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น

(1.3) โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น

(2) ให้หมู่บ้านหรือชุมชน จัดทำโครงการ ตามข้อ (1) เสนอต่อคณะกรรมการตำบลรวบรวมและรับรองโครงการเสนอต่อนายอำเภอ เพื่อเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด แล้วเสนอ มท. ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โครงการที่เสนอจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมของส่วนราชการ/หน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการในพื้นที่

1.2.3 ระยะเวลาดำเนินการ ให้ มท. ดำเนินการและเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

1.2.4 แหล่งเงินและวงเงินงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2558 และ/หรือ ปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 36,275 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงินงบประมาณตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามมติคณะรัฐมนตรี (4 ส.ค. 58) วงเงิน 6,541.09 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนโดยสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี       (18 ส.ค. 58) วงเงิน 490.60 ล้านบาท

1.2.5 แนวทางการดำเนินการ

(1) ให้ มท. เป็นผู้รับผิดชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขโครงการต่าง ๆ และกลไกคณะกรรมการในระดับจังหวัด โดยให้มีอำนาจอนุมัติโครงการตามหลักเกณฑ์ที่ มท. กำหนด ทั้งนี้ ระเบียบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขโครงการต่าง ๆ ขั้นตอน และคู่มือการดำเนินงาน ให้ มท. เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในเวลา 2 สัปดาห์ นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการแล้ว โดยให้ มท. เปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบได้ และจัดทำรายงานการประเมินผลโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคม 2559

(2) เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการ/แผนงานและงบประมาณแล้วให้ มท. เร่งรัดให้จังหวัดดำเนินโครงการและมอบให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ

(3) ให้ สงป. เป็นผู้จัดหางบประมาณ พร้อมทั้งติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนงานการปฏิบัติงานและการเบิกจ่ายงบประมาณและเสนอรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบความคืบหน้าทุกเดือน

2. มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด

2.2 สาระสำคัญ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

2.2.1 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุมเวียน ที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินการรายการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็น    ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน วงเงินในการดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2.2.2 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว โดยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กนี้ โดยเฉพาะรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ดำเนินการลงนามในสัญญาและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินมากกว่า 1 ล้านบาท ให้สามารถลงนาม และเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่ไตรมาส 1

2.3 แนวทางดำเนินงาน

2.3.1 การขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

(1) ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ เสนอให้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบหรือรัฐมนตรีที่กำกับพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้ สงป. ภายในวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2558

(2) สงป. พิจารณาและนำเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

(3) ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ มอบหมายหน่วยงานในพื้นที่เป็นหน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

2.3.2 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับค่าใช้จ่ายงบกลางฯ รายการที่จะขอรับ การสนับสนุนต้องมีลักษณะค่าใช้จ่าย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(1) เป็นรายการซึ่งมีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุน ภายใต้งบรายจ่ายงบลงทุน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น

(2) เป็นการส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงานในประเทศ

(3) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

(4) มีวงเงินต่อรายการไม่เกิน 1 ล้านบาท

(5) เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การบริหารจัดการน้ำของประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตของชุมชน

(6) เป็นรายการที่ชุมชนสามารถดูแลรักษาได้และใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง

(7) สถานที่ดำเนินการควรเป็นสถานที่สาธารณะที่มีหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากหน่วยงานที่ดูแล หรือหากเป็นสถานที่ส่วนบุคคลต้องมีเอกสารยินยอมให้ใช้สถานที่ เป็นลายลักษณ์อักษรและมีระยะเวลาที่สอดคล้องกับการเสื่อมของอาคาร/สิ่งก่อสร้างนั้น ๆ

(8) เป็นรายการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับรายการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 -2559 จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2.3.3 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นพิจารณาจัดทำโครงการโดยให้คำนึงถึงการกระจายตัวของโครงการให้ทั่วถึงทุกพื้นที่จัดทำระบบการตรวจสอบ รวมทั้งรายงานผลสำเร็จของโครงการให้ สงป.

2.3.4 ให้ สงป. ติดตามและรายงานผลการเบิกจ่ายให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน และจัดทำรายงานสรุปผลสำเร็จของโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคม 2559

                        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!