ร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 04 September 2015 09:34
- Hits: 4777
ร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ปรับแก้ไขตามมติที่ประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ประเด็น/สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ. องค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
1. คำนิยาม
แก้ไขนิยามคำว่า “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการของแต่ละองค์การมหาชน เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและการดำเนินการของคณะกรรมการในแต่ละองค์การมหาชน
2. อำนาจของ ครม.
- กำหนดให้ ครม. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาว่ากิจการอันเป็นบริการสาธารณะใดที่สมควรจะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน โดยข้อเสนอแนะของ กพม.
- เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและกำหนดระเบียบแบบแผนในกรณีที่มีปัญหาการซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งในการดำเนินกิจการขององค์การมหาชนกับการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นของรัฐตามกฎหมาย โดย กพม. เป็นผู้เสนอ
3. องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ กพม.
กำหนดให้มี กพม. ประกอบด้วย ประธานกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง 4 คน (เลขา-สคก. เลขา-สศช. เลขา-ครม. และ ผอ.สงป.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้เลขาธิการ คกก. พัฒนาระบบราชการ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ เช่น (1) เสนอแนะต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวมหรือการยุบเลิกองค์การมหาชน (2) เสนอแนะต่อ ครม. เพื่อกำหนดนโยบาย แนวทางและหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง การรวม การยุบเลิก การบริหารและพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน เป็นต้น
4. หลักเกณฑ์และอำนาจหน้าที่ของ คกก.ในองค์การมหาชน
- กำหนดให้ คกก. ในแต่ละองค์การมหาชนมีจำนวนตามที่กำหนดใน พ.ร.ฎ. จัดตั้งแต่ต้องไม่เกิน 11 คน โดยกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือน พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
- กำหนดให้การดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์การมหาชนเกินกว่า 3 แห่งไม่ได้ (ให้นับรวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งกรรมการด้วย) โดยไม่รวมถึงการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่ได้รับการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติราชการแทน
- ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ คกก. ในแต่ละองค์การมหาชน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และมีอำนาจแต่งตั้ง คกก. ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายใน
5. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับผอ. ในองค์การมหาชน
- กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ผอ. ขององค์การมหาชนไว้ในกฎหมายแม่บทเพื่อให้มีลักษณะสอดคล้องและเหมือนกัน
- กำหนดให้การพ้นจากตำแหน่งตามวาระเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์เป็นการพ้นจากตำแหน่งตามกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง
- แก้ไขอำนาจบังคับบัญชาของ ผอ. โดยให้มีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนทุกตำแหน่ง เว้นตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในให้ขึ้นตรงต่อ คกก. ตรวจสอบและ คกก. ตามระเบียบที่ คกก. กำหนด
6. การเร่งรัดให้องค์การมหาชนดำเนินการเสนอแก้ไข พ.ร.ฎ. จัดตั้งองค์การมหาชน
กำหนดให้องค์การมหาชนทุกแห่งดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ฎ. จัดตั้งองค์การมหาชนให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กันยายน 2558