รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – ญี่ปุ่น
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 16 August 2015 21:30
- Hits: 10977
รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – ญี่ปุ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของบันทึกการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของไทยและญี่ปุ่นและร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทยและญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกการหารือดังกล่าวต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ
บันทึกการหารือระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ที่ลงนามเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ใบพิกัดเส้นทางบิน
คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปรับปรุงเส้นทางบินของทั้งสองฝ่าย โดยให้จุดปลายทางของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งเป็นแบบเปิด ดังนี้
ฝ่ายญี่ปุ่น จุดต่าง ๆ ในญี่ปุ่น – จุดต่าง ๆ ในจีนที่ระบุภายหลัง และ/หรือ บนเกาะฟอร์โมซา ฮ่องกง – มะนิลา – จุดต่าง ๆ ในกัมพูชา และ/หรือ ลาว และ/หรือ พม่า และ/หรือ เวียดนาม – จาการ์ตา – สิงคโปร์ – กัวลาลัมเปอร์ – จุดต่าง ๆ ในประเทศไทย – จุดพ้นใด ๆ ในทั้งสองทิศทาง
ฝ่ายไทย จุดต่าง ๆ ในประเทศไทย – จุดต่าง ๆ ในกัมพูชา – และ/หรือ ลาว และ/หรือ พม่า และ/หรือ เวียดนาม – มะนิลา – ฮ่องกง – เกาซุง – ไทเป – โซล จุดต่าง ๆ ในญี่ปุ่น – จุดพ้นใด ๆ ในทั้งสองทิศทาง
2. การทำการบินเชื่อมจุดสองจุดในประเทศภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่ง
คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงอนุญาตให้สายการบินของญี่ปุ่นทำการบินเชื่อมสองจุดในประเทศไทย และสายการบินของไทยสามารถทำการบินเชื่อมสองจุดในประเทศญี่ปุ่นได้เช่นกัน
3. สิทธิความจุความถี่
คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายตกลงยกเลิกข้อกำหนดการคิดค่าสัมประสิทธิ์เทียบหน่วยความจุกับแบบอากาศยาน จากเดิมให้สิทธิทำการบินฝ่ายละ 126.0 หน่วยความจุต่อสัปดาห์ ตามแบบอากาศยานที่ได้ระบุ เป็นให้สิทธิทำการบินด้วยอากาศยานแบบใด ๆ ก็ได้ ยกเว้น A380 โดยไม่มีข้อจำกัดความจุความถี่ ภายใต้ความจุความถี่ ที่กำหนดข้างต้น จำนวนครั้งในการแวะลงจุดระหว่างทางในแต่ละทิศทางจะไม่เกินกว่า 21 เที่ยว/สัปดาห์ ซึ่งหากสายการบินของไทยใช้ไทเปเป็นจุดแวะลงระหว่างทาง จำนวนครั้งในแต่ละทิศทางจะต้องไม่เกิน 6 เที่ยว/สัปดาห์ และสายการบินแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินพ้นอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่งรวมทั้งหมดได้ไม่เกิน 21 เที่ยว/สัปดาห์
4. พิกัดอัตราค่าขนส่ง
คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับการใช้ข้อบทว่าด้วยพิกัดอัตราค่าขนส่งในความตกลงฯ ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น โดยมีรายละเอียดที่ไม่ขัดกับกฎหมายไทย
5. ความปลอดภัยการบินและการรักษาความปลอดภัยการบิน
คณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้ความปลอดภัยการบินและการรักษาความปลอดภัยการบินเป็นไปตามอนุสัญญาต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงไว้และสอดคล้องตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2558