ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการ ASEAN–German Programme on Response to Climate Change
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 09 August 2015 22:25
- Hits: 10495
ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการ ASEAN–German Programme on Response to Climate Change
เรื่อง ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนและร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการ ASEAN–German Programme on Response to Climate Change in Agriculture and Forestry (GAP–CC), Module II: ASEAN Sustainable Agrifood Systems (ASEAN Biocontrol)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนถึงสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี (Exchange of Notes) และ (2) ร่างความตกลงเพื่อการดำเนินการโครงการ (Implementation Agreement) ดังกล่าว
2. อนุมัติให้เลขาธิการอาเซียน (Secretary–General for ASEAN) ลงนามในร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ และรองเลขาธิการอาเซียน (Secretary–General for ASEAN) ลงนามในร่างหนังสือความตกลงเพื่อการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวข้างต้น
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ว่า รัฐบาลไทยเห็นชอบต่อร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ และให้เลขาธิการอาเซียนและรองเลขาธิการอาเซียนลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น ตามลำดับ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. สืบเนื่องจากการประชุมคณะทำงานด้านสาขาพืชของอาเซียน (ASEAN Sectoral Working Group on Crops – ASWGC) ครั้งที่ 21 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤษภาคม 2557 ณ Siem Reap ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ ASEAN Sustainable Agrifood Systems (ASEAN Biocontrol) และอนุมัติโครงการดังกล่าวระยะที่ 2 ระหว่างปี 2557 – 2560 โดยให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพของโครงการและสำนักงานประสานงานของโครงการต่อเนื่องจากโครงการ Phase I ระหว่างปี 2557 – 2560 และทางสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ดำเนินการขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) และหนังสือความตกลงเพื่อการดำเนินการโครงการ (Implementation Agreement) กับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมรีแล้ว
2. สาระสำคัญของความตกลงฯ สรุปได้ ดังนี้
2.1 โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนให้สามารถดำเนินงานและปฏิบัติตามกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน [ASEAN Integrated food Security (AIFS) Framework] และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (Strategic Plan of Action on Food Security in the ASEAN Region : SPA-FS) – Phase II ระหว่างปี 2558-2563 ซึ่งได้รับการรับรองจากการประชุมผู้นำของอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 25 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ เมืองเนปิดอร์ สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา โดยโครงการมุ่งเน้นด้านการส่งเสริมการผลิตอาหารเกษตรอย่างยั่งยืน (Sustainable Food production) ในระดับประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำนวน 7 ล้านยูโร ทั้งนี้ แผนก Agriculture, Industries and Natural Resources Division (AINRD) สำนักเลขาธิการอาเซียนได้พิจารณาและอนุมัติเอกสารดังกล่าวแล้ว
2.2 โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและอาเซียนที่ต่อเนื่องมากจาก Phase I โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อให้เกิดระบบอาหารเกษตรอย่างยั่งยืนในอาเซียน
2.3 โครงการฯ จะสนับสนุนการพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจและนิเวศน์วิทยาในอาเซียน โดยมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตอย่างยั่งยืน ปรับปรุงด้านการตลาด และอุตสาหกรรมด้านอาหารในระดับภูมิภาคอาเซียน
2.4 การสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีตามเอกสาร Exchange of Notes ระบุว่า รัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินจำนวน 7 ล้านยูโร ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายของ GIZ ในการดำเนินโครงการรวม ทั้งจะสนับสนุนทางด้านผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการ
2.5 อาเซียนจะเป็นหุ้นส่วน (Partner) ในการจัดการและดำเนินงานโครงการโดยมีสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินงานของโครงการในประเทศสมาชิก ASWGC โดยการสนับสนุนของสำนักงานประสานงานโครงการ (Project Coordination Unit : PCU) ซึ่งตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานการดำเนินงานของโครงการร่วมกับ GIZ คณะกรรมการบริหารโครงการ (Project Steeting Committee : PSC) จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการ
2.6 รายละเอียดในการดำเนินงานโครงการและการให้การสนับสนุนได้ถูกระบุอยู่ในข้อตกลงของการดำเนินงานในแต่ละส่วนตามความเหมาะสมข้อตกลงทางด้านการเงินจะได้รับการสรุประหว่าง GIZ และอาเซียน ภายใต้กรอบกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้ภายในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 สิงหาคม 2558