WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ....

GOVPolicyร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ....

      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

      1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508

      2. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ และไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร

     3. กำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนเก้าคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินหกคน และเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นกรรมการและเลขานุการ

     4. กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ กำกับดูแลทางนิวเคลียร์และรังสี ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง วางระเบียบควบคุมและดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในใบอนุญาต ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ อันพึงใช้โดยเฉพาะเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งกำหนดแผนเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

     5. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมวัสดุกัมมันตรังสีและเครื่องกำเนิดรังสี วัสดุนิวเคลียร์ สถานประกอบการนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว

    6. กำหนดมาตรการความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัย

    7. กำหนดให้ผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว ซึ่งประสงค์ทำการขนส่งวัสดุดังกล่าว มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อเลขาธิการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และผู้นั้นรวมถึงผู้รับขนส่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

    8. กำหนดมาตรการกรณีมีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอันเกิดจากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ให้ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องต้นตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องบอกแจ้งเหตุนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที ส่วนกรณีอันตรายหรือความเสียหายที่มีลักษณะหรือขยายขอบเขตเป็นความเสียหายสาธารณะ รวมทั้งกรณีอันตรายหรือความเสียหายอันเกิดจากนิวเคลียร์หรือรังสีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งผลกระทบต่อประเทศไทย ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีอำนาจเข้าระงับเหตุแห่งความเสียหายสาธารณะนั้นได้ทันที

                9. กำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงหรือประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

                10. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการยานพาหนะ ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ สถานที่ก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ หรือสถานที่ให้บริการกากกัมมันตรังสี เพื่อตรวจสอบการทดสอบระบบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ การบรรจุวัสดุนิวเคลียร์ และการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมทั้ง การตรวจ ค้น กัก ยึด อายัด หรือนำไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ เป็นต้น

                11. กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องรับโทษอาญา

                12. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับคณะกรรมการประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา 9 (1) (2) และ (3) ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 9 (4) ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 สิงหาคม 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!