ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2558 และครั้งที่ 2/2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 July 2015 22:08
- Hits: 12817
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2558 และครั้งที่ 2/2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 และครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กนย. รายงานว่าผลการประชุม กนย. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 มีมติเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรรายย่อยที่ อ.ส.ย. นำเสนอ โดยให้ อ.ส.ย. รับข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำยางสดที่รับซื้อในโครงการฯ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย พร้อมทั้งให้จัดสัดส่วนเงินระหว่างการซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยให้เหมาะสม
2. เห็นชอบในหลักการโครงการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางใช้ภายในประเทศโดยมอบหมายให้ กษ. (กรมวิชาการเกษตร และ อ.ส.ย.) นำโครงการไปผนวกรวมกับโครงการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางใช้ภายในประเทศของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อเสนอเป็นภาพรวมของประเทศต่อไป
3. เห็นชอบในหลักการให้โครงการร่วมค้าเพื่อการซื้อขายล่วงหน้ายางพาราในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเทศไทย (AFET) เป็นมาตรการเสริมภายใต้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมอบให้ อ.ส.ย. จัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป
4. เห็นชอบในหลักการการปรับแผนการดำเนินโครงการพัฒนาตลาดตามแผนแม่บทปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณดำเนินการปี 2558 โดยใช้งบกลาง จำนวน 818.23 ล้านบาท
5. เห็นชอบการทบทวนมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 จากเดิมที่กำหนดให้ กษ. เป็นผู้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็น “ให้ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี” และเห็นชอบการขยายกลุ่มเป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา (วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท) จากเดิมให้การสนับสนุนสินเชื่อเฉพาะสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร) เป็น “ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสหกรณ์ทุกประเภท วิสาหกิจชุมชน และองค์การวิสาหกิจอื่นที่ทำธุรกิจยางพารา”
สำหรับ ผลการประชุม กนย. ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการขับเคลื่อนด้านยางพาราภายใต้กรอบนโยบายเดิมโดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่เป็นอุปสรรคและจุดอ่อนของโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วในปี 2557/2558 ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเกษตรกร ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพในปี 2558/2559 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุมเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง ที่สิ้นสุดระยะเวลาโครงการแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2558 ให้ อก. รับข้อเสนอของกรรมการผู้แทนสมาคมน้ำยางข้นไทยที่ขอให้ขยายระยะเวลาโครงการนี้ออกไปอีก 1 ปี ไปพิจารณาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุป
2. โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ของ ธ.ก.ส. จากสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 รวมทั้งขยายระยะเวลาโครงการที่สถาบันเกษตรกรต้องส่งคืนเงินกู้ออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559
3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง เห็นชอบให้ยกเลิกแนวทางเดิมเนื่องจากไปต่อไม่ได้เพราะคุณสมบัติของผู้กู้ไม่ผ่านเงื่อนไขตามที่ธนาคารออมสินกำหนด โดยมอบรองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) พิจารณาในรายละเอียดเพื่อทบทวนแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป
4. โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เห็นชอบให้ยกเลิกระบบเดิมและให้ดำเนินการตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ประธาน กนย. โดยให้ใช้เงินที่เหลืออยู่ของโครงการฯ รับซื้อยางเฉพาะจากเกษตรกรเท่านั้น และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นผู้ตรวจสอบ โดยไม่ใช้ระบบเดิม
5. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการ โดยเปิดรับสมัครเกษตรกรให้เต็มตามวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท
6. โครงการควบคุมปริมาณการผลิตยาง มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าไปควบคุมพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำสวนยางให้เป็นไปตามกฎหมายรวม 6 แสนไร่ และ กษ. โค่นยางเก่าปีละ 4 แสนไร่ รวม 1 ล้านไร่ เพื่อลดปริมาณอุปทานยางในปลายปี 2558/2559 รวม 1.5 – 2 แสนตัน
7. โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทางการใช้สิทธิ์ของเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 โดยให้จ่ายเงินตามโครงการชดเชยรายได้เข้าบัญชีเกษตรกรตามข้อมูลที่กรมส่งเสริมการเกษตรรับขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขของโครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับเงินโดยเร็วซึ่งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สัตยาบันการปรับปรุงแนวทางการใช้สิทธิ์ของเกษตรกรชาวสวนยางดังกล่าว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฏาคม 2558