ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 July 2015 21:47
- Hits: 1728
ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
คค. เสนอว่า
กรมเจ้าท่า ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมงและการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU FISHING) โดยจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเรือที่เดินเข้าออกจากราชอาณาจักร และเรือที่เดินภายในราชอาณาจักรบางประเภทเป็นพิเศษ รวมถึงการกำกับดูแลบุคคลที่ทำการในเรือหรือผู้รับจ้างทำงานในเรือ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรปการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และเพิ่มประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมายสำหรับกรณีการล่วงล้ำลำน้ำตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการดำเนินการเพื่อมอบอำนาจให้สถาบันจัดชั้นเรือ (CLASSIFICATION SOCIETY) สามารถตรวจเรือและออกใบสำคัญการตรวจเรือได้ โดยเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของเรือในการนำเรือเข้ารับการตรวจสภาพเรือและออกใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามกฎหมายให้บรรลุผลตามมาตรการดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
(1) แก้ไขชื่อหมวดที่ 2 ในภาค 1 โดยเพิ่มหน้าที่นายเรือเมื่อเวลาเรือเข้ามาหรือออกจากน่านน้ำไทย หรือเดินเรือในน่านน้ำไทย
(2) เพิ่มบทบัญญัติให้เรือกำปั่นตามประเภทและขนาดที่เจ้าท่าประกาศกำหนด เมื่อจะเดินเรือในน่านน้ำไทย นายเรือต้องแจ้งและรายงานต่อเจ้าท่าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เจ้าท่าประกาศกำหนด เพื่อให้สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของเรือที่เดินในน่านน้ำไทยได้ โดยเฉพาะเรือที่มีขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส ให้เข้ามาในระบบตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐ
(3) เพิ่มเติมบทบัญญัติลงโทษกรณีมีผู้ฝ่าฝืนประกาศกำหนดให้เรือกำปั่นตามประเภทและขนาดที่กำหนดเมื่อจะเดินในน่านน้ำไทยนายเรือต้องแจ้งหรือรายงานต่อเจ้าท่า
(4) แก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษกรณีมีผู้ฝ่าฝืนปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับเป็นรายวัน
(5) เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าท่าอนุญาตให้สถาบันจัดชั้นเรือดำเนินการตรวจเรือและออกใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้สถาบันจัดชั้นเรือได้รับมอบอำนาจ
(6) เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าท่าในการออกหนังสือสำคัญประจำตัวคนทำการในเรือ หรือผู้รับจ้างทำงานในเรือ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ รูปแบบ และอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU FISHING)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฏาคม 2558