ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 July 2015 21:40
- Hits: 2006
ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
กค. เสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ได้มีการประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ส่งผลให้มีพระราชบัญญัติศุลกากรหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2480 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2480 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ทำให้กฎหมายศุลกากรกระจัดกระจาย ไม่สะดวกในการใช้งาน สมควรปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ตลอดจนรวบรวมกฎหมายที่ใช้อยู่ทุกฉบับให้เป็นพระราชบัญญัติฉบับเดียว อีกทั้งยังสมควรปรับปรุงแก้ไขให้มีมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) สมควรปรับปรุงแก้ไขและจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติศุลกากรเพียงฉบับเดียว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น กล่าวคือ ให้ลดอัตราการจ่ายเงินรางวัล ซึ่งจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการจับกุมจากเดิม ร้อยละ 25 จากเงินค่าขายของกลางหรือค่าปรับ เป็นร้อยละ 15 จากเงินค่าขายของกลางหรือค่าปรับ และให้มีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อคดี ส่วนเงินสินบนที่จ่ายให้แก่สายลับผู้แจ้งความนำจับให้คงไว้ในอัตราเดิม คือ ร้อยละ 30 จากเงินค่าขายของกลางหรือค่าปรับ แต่ให้มีเพดานสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคดี
2. แก้ไขอัตราโทษตามมาตรา 27 ซึ่งเป็นความผิดหลายฐานความผิดอยู่ในมาตราเดียวกัน โดยแยกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1) ความผิดฐานนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในหรือส่งหรือพาของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร (ลักลอบหนีศุลกากร) 2) ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร และ 3) ความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด โดยเพิ่มเติมความผิดฐานที่ 3 นี้ ให้ครอบคลุมถึงของที่นำเข้า เพื่อการผ่านแดนและการถ่ายลำด้วย นอกจากนี้ ยังได้ทำการปรับปรุงเรื่องอัตราโทษและเจตนาของการกระทำความผิดตามมาตรา 27 ดังกล่าวให้เหมาะสมขึ้น
3. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง ของต้องจำกัด ซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อนการนำเข้า โดยกำหนดให้ถือว่าของนั้นยังมิได้นำเข้าจนกว่าจะได้ตรวจมอบไปจากอารักขาของศุลกากร เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตหลังการนำเข้าได้
4. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง ระยะเวลาในการตรวจสอบภายหลังการตรวจปล่อย (Post Audit) โดยกำหนดให้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าหรือวันที่ส่งของออก เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาเก็บเอกสาร และมีระยะเวลาสิ้นสุดชัดเจน
5. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยกำหนดระยะเวลาการพิจารณาเป็น 180 วัน นับแต่วันที่พนักงานศุลกากรได้รับอุทธรณ์และเอกสารถูกต้องครบถ้วน และกำหนดให้สามารถมีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้หลายคณะ
6. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การยกอุทธรณ์ โดยให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจยกอุทธรณ์ ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 204 (กรณีไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียก หรือไม่ให้ถ้อยคำ) โดยไม่มีเหตุอันควร และกรณีผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์เท่านั้น
7. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การจ่ายเงินเพิ่มกรณีชำระภาษีไม่ครบ ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่ม โดยกำหนดให้มีเพดานการจ่ายเงินเพิ่มร้อยละหนึ่งต่อเดือน ไม่เกินค่าภาษีอากรที่ต้องชำระ
8. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง ระยะเวลาในการรายงานเรือ เพื่อให้การรายงานอากาศยานเข้า-ออก สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยกำหนดให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด
9. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง ของตกค้างโดยกำหนดระยะเวลาของของตกค้างให้เร็วขึ้นจาก 2 เดือน เหลือ 30 วัน หลังจากครบ 30 วันแล้ว เมื่อตัวแทนเรือได้รับคำบอกกล่าวจากอธิบดีครบ 15 วัน ให้ถือว่าของนั้นเป็นของตกค้าง เพื่อเร่งรัดการจัดเก็บภาษีและเพื่อให้การใช้พื้นที่บริเวณเขตท่าเป็นไปอย่างเหมาะสม ตลอดจนกำหนดให้การเก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร เป็นไปตามระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดเพื่อป้องกันปัญหาของล้นคลังสินค้า โดยไม่มีมาตรการรองรับ
10. เพิ่มเติมนิยามและบทบัญญัติ เรื่อง อำนาจทางศุลกากรในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของกรมศุลกากรและสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ดังกล่าวแล้ว จึงมีผลผูกพัน
11. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การนับอายุความกรณีหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ที่ให้นับเช่นเดียวกับอายุความกรณีเรียกเก็บอากรขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ โดยกำหนดให้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าหรือวันที่ส่งของออก และแก้ไขอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่ชำระไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง จากเดิม 2 ปี เป็น 3 ปี นับจากวันที่นำของเข้าหรือวันที่ส่งของออก เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลรัษฎากร
12. เพิ่มเติมนิยามและบทบัญญัติ เรื่อง ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในทางกฎหมาย โดยกำหนดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทำนองเดียวกับนายเรือ สอดคล้องกับทางปฏิบัติ และเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
13. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับทำการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการตามที่อธิบดีเห็นสมควรกับของที่นำเข้ามาและเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้อธิบดีมีอำนาจอนุมัติการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนได้ในกรณีที่อธิบดีเห็นสมควร ตลอดจนสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาในการเก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนได้
14. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การกำหนดให้นำบทบัญญัติเรื่อง การเก็บของในคลังสินค้ามาใช้บังคับกับการนำของเข้า การเก็บรักษา การส่งของออก การควบคุม การขนย้ายในเขตปลอดอากร และอำนาจพนักงานศุลกากรโดยอนุโลม โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด
15. เพิ่มเติมนิยามและบทบัญญัติ เรื่อง สินค้าที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากสินค้าที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรอย่างหนึ่ง ซึ่งตามกระบวนการพนักงานศุลกากรมีหน้าที่ต้องตรวจของทุกชนิด เมื่อมีการนำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ดังนั้น การตรวจปล่อยสินค้าที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาก็ควรต้องอยู่ในกระบวนการเดียวกัน เพื่อให้การตรวจของเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับหลักสากลที่กำหนดให้กรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและปราบปรามการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
16. แก้ไขเพิ่มเติมโดยการตัดบทบัญญัติ เรื่อง ทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้า และที่มั่นคงตามมาตรา 7 (1) ออก เพราะเป็นบทเฉพาะกาล ที่บังคับใช้ก่อนมีพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 หากคงไว้จะทำให้ ทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้า และที่มั่นคง ที่ไม่ถูกต้องในปัจจุบันกลายเป็นทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้า และที่มั่นคงที่ได้รับอนุมัติแล้ว
17. แก้ไขบทบัญญัติ เรื่อง การให้ทำเอกสารและสำเนาคู่ฉบับก่อนขนของลงเรือ หรือย้ายขนไปเพื่อบรรทุกลงเรือ ส่งออกนอกราชอาณาจักร โดยตัดบทบัญญัติตามมาตรา 47 ออก ซ้ำซ้อนกับ มาตรา 45
18. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การบังคับคดี โดยกำหนดให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการยึด อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร
19. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง อำนาจของอธิบดี เกี่ยวกับการบังคับบัญชา การให้เงินเดือนและเงินรางวัล และการกำหนดระเบียบเพิ่มเติมตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพื่อให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
20. เพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์ โดยให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้ หากมิได้มีความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ให้การขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร
21. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง ค่าธรรมเนียมการดำเนินพิธีการศุลกากรหรือการให้บริการทางศุลกากร โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดในกฎกระทรวง
22. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การนำของที่ได้รับยกเว้นหรือคืนอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หากนำของนั้นเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนให้ถือว่าเป็นการส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการยกเว้นหรือคืนอากรโดยให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดระเบียบปฏิบัติได้
23. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง ความหมายของการนำเข้าสำเร็จทางไปรษณีย์ เพื่อให้มีความชัดเจนตามกฎหมายยิ่งขึ้น
24. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การยกเว้นอากรที่เก็บแก่ของใดๆ ที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยผ่านเขตแดนใดๆ ทางบกหรือตอนใดแห่งเขตแดนนั้น จากเดิมต้องออกพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้นอากร กำหนดให้ออกเป็นประกาศกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแทน
25. เพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง การผ่านแดนและการถ่ายลำ โดยกำหนดให้นำข้อห้ามข้อจำกัดไปใช้กับของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำได้เท่าที่จำเป็น เช่น ข้อห้าม ข้อจำกัดอันเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของประชาชน นโยบายสาธารณะความปลอดภัยของสาธารณชน การปกป้องชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และการปกป้องการครอบครองสมบัติของชาติในด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือค่านิยมทางโบราณคดี หรือการปกป้องทรัพย์สินทางการค้าหรืออุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
26. แก้ไขบทบัญญัติ มาตรา 27 ทวิ เรื่อง การซื้อหรือรับไว้ซึ่งของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 ให้สอดคล้องกับการแก้ไขมาตรา 27 ซึ่งได้มีการปรับปรุงอัตราโทษ และปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องเจตนาในการกระทำผิดให้เหมาะสมขึ้น โดยได้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 27 ทวิ เดิม ให้เป็น 3 วรรค ได้แก่ วรรคแรก ความผิดฐานนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ลักลอบหนีศุลกากร) วรรคสอง ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร และวรรคสาม ความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 27 เดิม ที่ได้แก้ไขใหม่ ให้เป็น 3 ฐานความผิด โดยบัญญัติเป็น 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 147 มาตรา 148 และมาตรา 149 อีกทั้ง ได้ปรับปรุงอัตราโทษปรับและโทษจำคุกใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแต่ละฐานความผิด โดยอัตราโทษจำคุกสูงสุดจะกำหนดไว้ไม่เกิน 5 ปี
27. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เรื่อง เมืองกำเนิดเป็นเท็จ โดยกำหนดให้นำหลักการตามพระราชบัญญัติห้ามนำของที่มีการสำแดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พุทธศักราช 2481 มาบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมศุลกากรมีหน้าที่โดยตรง และกฎหมายฉบับดังกล่าวมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการ ส่งผลให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน เมื่อนำมาบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... และให้นำบทลงโทษในเรื่องการลักลอบตามมาตรา 147 และเรื่องหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ตามมาตรา 149 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เพราะความผิดกรณีนี้สามารถมีได้ ทั้งกรณีลักลอบและกรณีผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้องแต่สำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ
28. เพิ่มเติมให้การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้าม เป็นความผิดตามมาตรา 149 แห่งร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้ของนำผ่านหรือของถ่ายลำต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหรือข้อห้ามด้วย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฏาคม 2558