ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา – มาบตาพุด ของกรมทางหลวง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 19 July 2015 20:18
- Hits: 1771
ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา – มาบตาพุด ของกรมทางหลวง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา – มาบตาพุด ของกรมทางหลวง วงเงินลงทุนรวม 20,200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. เหตุผลความจำเป็นของโครงการ การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกจากกรุงเทพฯ ไปสู่ภูมิภาคในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งในปัจจุบันเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมต่อกับท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยองมีสภาพการจราจรที่หนาแน่นและประสบปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตอุตสาหกรรม มีการสัญจรของรถบรรทุกหนัก ทำให้การเดินทางไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัย ทั้งนี้ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางหลวงมาตรฐานสูงรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลกับเขตพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกให้สามารถรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมต่อไปยังท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) และทางหลวงหมายเลข 331 ที่ปัจจุบันประสบปัญหาการจราจรติดขัดมากขึ้น และจะเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางและขนส่งสินค้าให้เป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ลดการสิ้นเปลืองพลังงานเนื่องจากการจราจรติดขัด ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ รวมทั้งจะเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญเชื่อมโยงฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออกอันจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจของไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558
3. ลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการแยกจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี – พัทยา ผ่านพื้นที่อำเภอบางละมุงและสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปสิ้นสุดที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง รวมระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร โดยออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร มีด่านเก็บค่าผ่านทางแบบคิดตามระยะทาง (ระบบปิด) จำนวน 3 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 1 แห่ง ซึ่งกำหนดไว้ ในตำแหน่งที่เหมาะสมตลอดแนวโครงการ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฏาคม 2558