WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การดำเนินโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และระเบียบ

GVOการดำเนินโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และระเบียบ

 

    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และระเบียบ เรื่อง ANSSR: Developing Regulatory Impact Assessment (RIA) Guidelines as an Anti – Corruption Tool ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และมอบหมายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คสช.) ตามโครงการดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า

    1. ประเทศไทยมีการนำเครื่องมือการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) มาใช้เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว มีทั้งการประเมินความจำเป็นในการตรากฎหมาย (ex ante assessment) และการประเมินผลกระทบของกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว (ex post evaluation of legislation) ตามคู่มือตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำคำชี้แจงตาม “หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติในหลักการของร่างกฎหมาย (Policy Approval) ส่วนการประเมินผลกระทบของกฎหมายที่ใช้บังคับแล้วนั้น ได้มีการกำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 35 ให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบและทบทวนบรรดากฎหมายลำดับรองที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อปรับปรุงกฎหมายลำดับรองให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาวการณ์และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ แต่การปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นเพียงการจัดทำรายงานตามแบบที่กำหนดโดยไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างครบถ้วน รอบด้าน ส่งผลให้ไม่สามารถประเมินผลได้ผลเสียของร่างกฎหมายนั้นๆ อย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ของ สศช. พบว่า ปัจจัยด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ภาครัฐ ปัจจัยด้านความโปร่งใสและปัจจัยด้านคอร์รัปชัน เป็นปัจจัยถ่วงที่ทำให้ขีดความสามารถโดยรวมของประเทศไทยต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ

    2. การดำเนินโครงการจัดทำเครื่องมือประเมินผลกระทบทางกฎหมาย กฎ และระเบียบ เรื่อง ANSSR: Developing Regulatory Impact Assessment (RIA) Guidelines as an Anti – Corruption Tool จะเป็นการพัฒนาเอกสารแนะแนวสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ยธ. และ สศช. ได้จัดทำแผนงานเพื่อกำหนดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการร่วมกันประกอบด้วยกิจกรรมหลัก จำนวน 3 กิจกรรม คือ 1) การจัดทำแนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA Guidelines) 2) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและปรับปรุงแนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA Guidelines) และ 3) การเผยแพร่แนวทางการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA Guidelines) พร้อมกับจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างวิทยากรฝึกอบรมด้านการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถพัฒนาบุคลากรของตนเองได้

    3. ยธ. และ สศช. จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ (Workshop on Thailand RIA Guidelines Development) ในวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2558 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ และยกร่างเอกสารเรื่อง Regulatory Impact Assessment (RIA) in Thailand เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการจัดประชุมดังกล่าว และได้ประสานงานเพื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การเอเปค องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สำนักเลขาธิการอาเซียนและธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รวมทั้งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการนำเครื่องมือการประเมินผลกระทบทางกฎหมายมาใช้ ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และมาเลเซีย มาเป็นวิทยากร พร้อมกับเชิญผู้แทนประเทศในกลุ่มเอเปค อาทิ ชิลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม รัสเซีย เม็กซิโก เปรู เข้าร่วมการประชุมด้วย

     ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กรกฏาคม 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!