แผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 28 June 2015 20:38
- Hits: 2453
แผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ.รายงานว่า ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ต่อไป จึงได้กำหนดภารกิจสำคัญมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2558 ดังนี้
1. ในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ได้จัดกิจกรรมการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนการประกาศขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งจัดทำพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2552 และนับแต่นั้นเป็นต้นมาได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดสาขาของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้ครอบคลุมเหมาะสมกับสภาพบริบทของสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 7 สาขา และได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 286 รายการ
2. การศึกษาวิจัยและจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. .... ได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมายเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นการเฉพาะ โดยให้มีการรักษาและสืบทอดรวมทั้งการนำองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
3. การผลักดันเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) วธ. เล็งเห็นว่าหากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จะมีสิทธิในการเสนอรายการเพื่อประกาศเป็นตัวแทนของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) หรือรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (List of Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding) ต่อยูเนสโก จึงถือเป็นโอกาสอันดียิ่งในการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศชาติให้ปรากฏในเวทีโลกเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกแล้ว ในการนี้ วธ.ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ในการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 เห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการตามวิธีการทางการทูตต่อไป ทั้งนี้ กต.จะดำเนินการเมื่อประเทศไทยมีกฎหมายเฉพาะบังคับใช้ (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ....)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2558