ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่หนึ่งของปี 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 14 June 2015 20:58
- Hits: 1825
ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่หนึ่งของปี 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสที่หนึ่งของปี 2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่หนึ่งของปี 2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญไตรมาสที่หนึ่งของปี 2558
1.1 การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานต่ำ รายได้ยังเพิ่มขึ้น
1.2 การก่อหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงต่อเนื่อง การผิดชำระหนี้ทั้งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อภายใต้การกำกับ และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น
1.3 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
1.4 ความสุขของคนไทยเริ่มดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความสุขโลก
1.5 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และพบการตั้งครรภ์ซ้ำเพิ่มขึ้น
1.6 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชน
1.7 คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น
1.8 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมดีขึ้น โดยยังคงต้องให้ความสำคัญในการปราบปรามการค้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
1.9 การสร้างพฤติกรรมความมีน้ำใจและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรทางบก
1.10 การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี
1.11 ความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ภายใต้หลักการ 5P (Policy, Prosecution, Protection, Prevention and Partnership and international Cooperation) อย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง
2. บทความพิเศษเรื่อง “อาชีวะทวิภาคี: พลังร่วมสร้างกำลังคนคุณภาพ”
2.1 การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเป็นพลังร่วมระหว่างสถานศึกษา (ผู้ผลิต) และสถานประกอบการ (ผู้ใช้แรงงาน) ที่มุ่งเน้นพัฒนากำลังคนระดับกลางให้มีคุณภาพ มีการเรียนรู้คู่การทำงาน เพื่อนำไปสู่การยกระดับสมรรถนะให้ตรงกับความต้องการ ความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
2.2 ข้อจำกัดในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้แก่ การขาดความพร้อมของสถานศึกษาทั้งในเรื่องบุคลากร ความรู้ความเข้าใจ การบริหารจัดการและคุณภาพ ตลอดจนขาดความร่วมมือของสถานประกอบการ เป็นต้น
3. ประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป
3.1 คุณภาพชีวิตแรงงานอันเนื่องมาจากปัจจัยผลกระทบต่าง ๆ
3.2 การเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน การเปิดดำเนินการของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าของการกู้ยืมนอกระบบปรากฏในระบบบัญชีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น แต่จะทำให้มีการบริหารจัดการและการติดตามได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
3.3 การป้องกันการสูบบุหรี่ของเยาวชน ให้ความสำคัญกับการผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย
3.4 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ควรเน้นการปราบปรามนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ และการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
3.5 การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างพฤติกรรมการใช้ถนนอย่างแบ่งปันและมีน้ำใจ
3.6 การป้องกันเด็กจมน้ำ เน้นการใช้มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ การสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นที่ถูกต้อง
3.7 ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จและแนวทางการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้แก่ (1) การเร่งจัดทำข้อมูลการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของประเทศ (2) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการทั้งระบบคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ประกอบการ การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย (3) การบริหารงานอาชีวศึกษาทวิภาคีในสถานศึกษาในรูปคณะกรรมการ (4) การผลิตและพัฒนาครูช่างให้เพียงพอและมีคุณภาพ และ (5) การกำกับคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษา มีนโยบายที่ชัดเจนและการสร้างกลไกสนับสนุนกระบวนการบริหารงาน และการกำกับคุณภาพมาตรฐานและวิธีการประเมินการบริหารงาน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2558