WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

GOV3ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

 

    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวทาง/ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป

แนวทาง/ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

1. ภาพรวม

   1.1 การดำเนินงานของทั้งสามเสา (1. เสาการเมืองและความมั่นคง 2. เสาเศรษฐกิจ 3. เสาสังคมและวัฒนธรรม ) ควรมีการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการตั้งเป้าหมาย/วิสัยทัศน์ล่วงหน้า 10 ปี และมีการวางแผนระยะ 5 ปีและ 10 ปี ซึ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน โดยอาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส นอกจากนี้ ส่วนราชการควรคำนึงถึงการผลักดันประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในกรอบอาเซียนด้วย มิใช่เฉพาะในประเทศไทย

   1.2 ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนอย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่และสามารถรับมือกับผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมอย่างทันท่วงที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการบูรณาการและมีการดำเนินงานในลักษณะครบวงจร โดยมีการกำหนดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลัก หน่วยงานรอง หน่วยงานเสริม ที่ชัดเจนมีการวิเคราะห์ วิกฤต โอกาส ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทยและอาเซียน

2. เสาการเมืองและความมั่นคง

      การบริหารจัดการชายแดนและจุดผ่านแดนหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการ และอาจพิจารณาให้ศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีภารกิจครอบคลุมประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งให้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ อาจพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ไทยต้องรับภาระในเรื่องการให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลแก่แรงงานต่างชาติบริเวณชายแดน

3. เสาเศรษฐกิจ

    เห็นชอบให้ไทยผลักดันประเด็น “ASEAN Access” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 ในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำหนดทิศทางในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยภายใต้ประชาคมอาเซียนรับจะศึกษาและจัดทำกรอบแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

    3.1 ควรผลักดันประเด็นต่าง ๆ ในกรอบอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ความสำคัญกับภาคเกษตร การพัฒนาตราสินค้าอาเซียน การส่งเสริม SMEs การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า

    3.2 ควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในอาเซียน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นหุ้นส่วนกันและไม่แข่งขันกันเอง โดยเฉพาะผลผลิตด้านการเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

   3.3 เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบ/รับรองมาตรฐานสินค้าไทยให้สามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้

4. เสาสังคมและวัฒนธรรม

    ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาราคายาและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมาก ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ โดยอาจพิจารณาหาแนวทางในการควบคุมและมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน

5. ด้านกฎหมาย

    ให้มีการเร่งรัดจัดทำข้อมูลกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามพันธกรณีและเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทย โดยให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสามเสาติดตามข้อมูลกฎหมายจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดส่งให้คณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป และให้รัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวงแจ้งยืนยันข้อมูลกฎหมายของหน่วยงานของตนไปยังคณะทำงานฯ ด้วย

6. ด้านประชาสัมพันธ์

    ควรมีโครงสร้างการประชาสัมพันธ์ที่เน้น 3 ประเด็น ได้แก่ การสร้างความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมที่ควรเตรียมพร้อมรับมือและโอกาสที่ประชาชนจะได้รับจากอาเซียน และควรสร้างความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับประเทศไทยกับอาเซียน และอาเซียนในบริบทของประชาคมโลก

                        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!